สถาบันฯ ครูอาเซียน ขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพ สานต่อความร่วมมือผู้ใช้นวัตกรรม TLSOA ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศไทย

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ร่วมกับ มูลนิธิพุทธรักษา ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา และมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด จัดงานสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาและการอบรมเชิงปฏิบัติการศึกษานิเทศก์ ภายใต้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated with Open Approach: TLSOA) ณ ห้องประชุม 2301  สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน อาคาร 2

ซึ่งงานนี้ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนฯ อีกทั้งยังมีคณะศึกษานิเทศก์ผู้ร่วมขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมฯ พร้อมด้วยคณะครูผู้ใช้นวัตกรรมฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพและสร้างเครือข่ายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งพัฒนาโรงเรียนในโครงการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (TLSOA)

โดยในเวลา 08.45 น. รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รวมถึงได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นวัตกรรมทางการศึกษาของสถาบัน กับ Societal Contributions ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูที่ใช้นวัตกรรมฯ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่เดินทางมาเข้าร่วมการสัมมนา ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และผู้เข้าร่วมงานจากทางออนไลน์ รวมกว่า 400 คน

และกิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วย การบรรยายพิเศษและการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสานต่อการใช้นวัตกรรมฯ และความร่วมมือการพัฒนาวิชาชีพครู การสร้างเครือข่ายและการพัฒนาโรงเรียนในมิติต่าง ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

  1. บรรยายพิเศษ เรื่อง 20 ปี การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กรรมการสภาสถาบันพระบรมราชชนก และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  1. บรรยายพิเศษ เรื่อง นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated with Open Approach: TLSOA) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  1. บรรยายพิเศษ เรื่อง Turning point of Japanese Lesson Study in the 21st Century โดย Prof. Yutaka Ohara Department of Education, Gakushuin University, Japan แปลโดย อ.อรรค อินทร์ประสิทธิ์

ส่วนในช่วงบ่าย สถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมคู่ขนานในการอบรมถ่ายทอดเทคนิคและความรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูที่ใช้นวัตกรรม TLSOA จำนวน 2 ห้อง ประกอบด้วย

  • การอบรมเชิงปฏิบัติการของศึกษานิเทศก์
  1. อบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับเทคนิคทักษะที่จำเป็นสำหรับศึกษานิเทศก์ ผ่านการวิเคราะห์วีดิทัศน์ชั้นเรียน โดย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์
  2. การเสวนา เรื่อง บทบาทของศึกษานิเทศก์ ในการขับเคลื่อน TLSOA ผู้ร่วมเสวนา 1) ศน.พรพิมล ทักษวรบุตร 2) ศน.สุดสงวน กลางการ 3) ศน.กีรติ ชาดาเม็ก และ 4) ศน.วิชดารัชต์ วงศ์สะอาด ดำเนินรายการโดย รศ.จุมพล ราชวิจิตร, อาจารย์พวงทอง พูลเรือง และดร.สันติ บรรเลง
  1. เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันสำหรับศึกษานิเทศก์ โดย รศ.จุมพล ราชวิจิตร, อาจารย์พวงทอง พูลเรือง, ศน.พรพิมล ทักษวรบุตร, ศน.สุดสงวน กลางการ และ ดร.สันติ บรรเลง
  • การอบรมเชิงปฏิบัติการของผู้บริหารสถานศึกษา
  1. อบรมเชิงปฏิบัติการ School Management การพัฒนาชั้นเรียนผ่านระบบ KOHNAI KENSHU โดย Prof. Akira Mitamura ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟุกุอิ แปลโดย อ.อรรค อินทร์ประสิทธิ์
  1. การประชุมชมรมผู้บริหารสถานศึกษาและกำหนดแผนการดำเนินงาน โดย ชมรมผู้บริหารโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดl

โดยในปีนี้ ผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายยังได้ร่วมจัดงานมุทิตาจิตแก่ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครูผู้เกษียณอายุราชการที่ได้ร่วมสานต่อการดำเนินงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. ได้เดินทางมาร่วมงานและกล่าวมุทิตาจิตและให้โอวาทแก่ผู้เกษียณอายุราชการ

ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อสร้างเครือข่ายและร่วมขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนฯ TLSOA และพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งในการพัฒนาวิชาชีพครู อีกทั้งยังสนับสนุนยุทธศาสตร์สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน เพื่อเป็นการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และสนับสนุนเรื่องการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG4)

 

ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง

 

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top