สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จัดประชุม 3 ฝ่าย สถาบันการศึกษา ภาคการศึกษา และภาคสาธารณสุข หารือการจัดการหลักสูตรโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในโรงเรียน

สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี หารือแนวทางการจัดการหลักสูตรโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับผู้บริหารการศึกษา จ.ขอนแก่น สสจ.ขอนแก่น และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

วันนี้ (19 มีนาคม 2563) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้จัดประชุมหารือแนวทางการจัดการหลักสูตรโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในอำเภอบ้านแฮด และอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ณ ห้องประชุม 5314 อาคารเวชวิชชาคาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 15 คน จากศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25, ผู้แทนโรงเรียนในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด, สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น นำโดย ดร.เกษร แถวโนนงิ้ว รอง ผอ.สคร.7, กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น, โครงการวิจัยหลักสูตรเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในโรงเรียน นำโดย ผศ.ดร.ธีรชัย เนตรถนอมศักดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และศูนย์ประสานงานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 (กขป.7) นำโดย นายสุทธินันท์ บุญมี ประธาน กขป.7

รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว กล่าวว่า “การรณรงค์เรื่องการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ประเทศเราทำมาช้านานแล้ว ตั้งแต่การรณรงค์โครงการอีสานไม่กินปลาดิบ โดยอาจารย์หมอเริงศิลป์และวงเพชรพิณทอง แต่ผ่านมาจนวันนี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงเป็นปัญหาหลักที่พรากชีวิตคนอีสานและประชาชนไทยมาจนถึงวันนี้ นั่นเพราะการแก้ปัญหายังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขทั้งระบบ ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาต้องแก้ไขเหตุแห่งปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่การควบคุมวงจรชีวิตพยาธิ โดยทำให้อาหารปลอดภัย ทำให้ปลาปลอดพยาธิ มีการจัดการสุขาภิบาลและระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลที่มาตรฐาน มีการจัดการกับสัตว์รังโรค เช่น สุนับ แมว และถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้กับเยาวชนในสถานศึกษา สร้างภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักในปัญหาของประเด็นดังกล่าว โดยผมเชื่อว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะเชื่อฟังครู ถ้าครูร่วมรณรงค์เรื่องนี้ให้กับนักเรียน กระจายไปในหลายๆ โรงเรียน ผมว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ จะเกิดความตระหนักมากขึ้นแน่นอน ซึ่งพันธกิจเรื่องนี้ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559–2568 ไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 โดยดำเนินการผ่านโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568 ขับเคลื่อนร่วมกันไปในหลายหน่วยงานหลายกระทรวงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งแนวทางการทำงานของเราตอนนี้มุ่งเน้นการนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยลงไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เสี่ยง โดยเริ่มต้นที่พื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ซึ่งจังหวัดขอนแก่น เป้าหมายอยู่ที่ อ.บ้านไผ่และ อ.บ้านแฮด ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินงานในพื้นที่หลายพื้นที่ไปแล้วในหลายๆ ประเด็น มุ่งหวังที่จะลดอัตราผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่การรักษาต่อไป

จากนั้น ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานในเรื่องการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคการศึกษา โดยหนึ่งในผู้เข้าประชุม นางปทุมรัตน์ หล้าจันทร์ ครูโรงเรียนบ้านดอนปอแดง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่เสี่ยง พบว่า “ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยกินปลาดิบแล้ว ที่ยังได้กินอยู่ตอนนี้ คือ พ่อแม่พากิน ดังนั้น การให้ความรู้เด็กควบคู่กับการให้ความรู้ผู้ปกครอง เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องตระหนัก” 

จากประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร.ธีรชัย เนตรถนอมศักดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยหลักสูตรเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในโรงเรียน ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า “การสร้างความตระหนักเรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทางโครงการวิจัยฯ ได้ดำเนินงานวิจัยใน 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ลุ่มน้ำสงคราม จ.นครพนม และลุ่มน้ำมูล จ.สุรินทร์ เข้าเก็บข้อมูลพฤติกรรมและองค์ประกอบต่างๆ ในโรงเรียนแถบลุ่มน้ำ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านหลักสูตรทั้ง 3 ระดับ คือ ประถม ม.ต้น ม.ปลาย ตอนนี้ได้สรุปเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนพร้อมกิจกรรมเสริมหลักสูตรทั้ง 3 ระดับ และได้นำลงใช้ในพื้นที่วิจัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะดำเนินงานร่วมกับพื้นที่ต่อไป” 

โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ จากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญให้กับประเทศอย่างแท้จริง และทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างทันเวลา เท่าเทียม มีคุณภาพ และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการขจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จะกระทำให้สำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง การจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ร่วมกัน สอดรับกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ยึดถือการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม สร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะภาคอีสานให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีลงให้เหลือน้อยที่สุด

หมายเหตุ : การประชุมครั้งนี้ ได้จัดขึ้นในช่วงเวลาเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้มีมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงโดยการบริการหน้ากากอนามัยให้ผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมจัดหาเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือบริการให้กับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง

Scroll to Top