มข.พร้อมผลักดันชุมชน ลุย ! อุตสหกรรมจิ้งหรีด เต็มที่ แก้ปัญหาความยากจน

มข.พร้อมผลักดันชุมชน ลุย ! อุตสหกรรมจิ้งหรีด เต็มที่ แก้ปัญหาความยากจน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 (วันนี้) รายการรอบรั้วมข. คลื่นความถี่ FM103 MHz. สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจากรศ. รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สยปพ.) ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ สยปพ. ต่อการขับเคลื่อนอุตสหกรรมจิ้งหรีด แก้ปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนขยายโอกาสส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดสู่ตลาดโลก โดยมีนางเบญจมาภรณ์ มามุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

การผลักดันขอนแก่นเป็นเมืองจิ้งหรีดโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเผยแพร่และเพิ่มทักษะความรู้ในการเลี้ยงจิ้งหรีดสู่ภาคเกษตรกรรายย่อย นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน ที่สามารถช่วยกระจายรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรอย่างยั่งยืน

รศ. รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ในรายการรอบรั้วมข. คลื่นความถี่ FM103 MHz. สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีนางเบญจมาภรณ์ มามุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  การลงพื้นที่นำเสนอผลงานจิ้งหรีดที่ต่อ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเข้าใจความโดดเด่นของพื้นที่ในภาคอิสาน โดยเฉพาะขอนแก่นตอนนี้อยู่ในสถานะที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากหญ้าสู่ระดับโลกได้  

“ทีมปลัดกระทรวงได้ประกาศให้จิ้งหรีดเป็นอุตสหกรรมที่ต้องส่งเสริมทั้งในระดับภาคเกษตรพาณิชย์ และ ระดับอุตสหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอิสานและภาคเหนือ ซึ่งการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน สคว. ฝ่ายเกษตร เป็นผู้ขับเคลื่อนในภาคอิสาน มุ่งยกระดับเศรษฐกิจแบบรากหญ้า โดยใช้ความสามารถของคนในพื้นที่ทำงาน เนื่องจากภูมิภาคอิสานส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงจิ้งหรีดและมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเห็นโอกาสที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของสถาบันวิจัย ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและให้ได้มาตรฐานมากที่สุด”

รศ.รังสรรค์กล่าวต่อไปว่า  “ขณะนี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ได้กำหนดให้จิ้งหรีดเป็นอาหารชนิดใหม่ของโลก  ประจวบเหมาะกับภูมิภาคอาเซียนมีการเลี้ยงจิ้งหรีดในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เกษตรกรมีความสามารถในการเลี้ยงจิ้งหรีด กระบวนการมีความปลอดภัย และราคาต่ำกว่าต่างประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต่างประเทศจะหันมาซื้ออุตสาหกรรมจิ้งหรีดและเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมจิ้งหรีดในไทยมีชื่อเสียงมากขึ้น” รศ.รังสรรค์กล่าว

ทั้งนี้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการเชื่อมโยงในหลายสหวิทยาที่นำความรู้จากหลายสาขาความรู้มาใช้ อาทิ 1) ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นไปในส่วนของการจัดระบบฟาร์ม ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ 2) ด้านเกษตรกรรม วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด 3) ด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปจิ้งหรีด และผังโรงงาน 4) ด้านการแพทย์ สารอาหารโปรตีนจากจิ้งหรีด หรืออาหารเพื่อผู้ป่วย และ 5) ด้านเภสัชกรรม การพัฒนาไปเป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเป้าหมายให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานในอีสาน มุ่งเน้นการผลักดันเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความเข้มแข็งขึ้น ประชาชนเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเองไปพร้อม ๆกับ การรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม และ เกิดผู้ประกอบการในพื้นที่ นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ในช่วงท้ายรายการ รศ.รังสรรค์ มองว่า การดำเนินงานการพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดในภูมิภาคอีสาน จะขับเคลื่อนไปสู่มาตรฐานระบบจัดการคุณภาพ “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี” และ การขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกได้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ซึ่งเป็นความท้ายทายอย่างยิ่ง เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเพิ่มเครือข่ายการทำงาน และ กระบวนการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ข่าว : นางสาวทิตาวีร์ การรัมย์ นศ.ฝึกสหกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา / รวิพร สายแสนทอง

Scroll to Top