สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน Workshop ครู ลดความเหลื่อมล้ำ หนุนความเสมอภาค การศึกษาไทย

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครู ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ณ อาคารพจน์ สารสิน ระหว่างวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์จุมพล ราชวิจิตร ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน

          รองศาสตราจารย์จุมพล ราชวิจิตร  ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวว่า   การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการอบรมครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รุ่นที่ 2 ปี 2563 มีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด รวมทั้งแนวทางการดำเนินการของโครงการ  โดยผู้เข้าอบรม เป็นผู้ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้โครงการดำเนินไปได้ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูวิชาการ และครูระดับชั้น ป.1 – ป.3 จำนวน 150 คน จากโรงเรียนในโครงการ 30 โรงเรียน ซึ่งอยู่ในจังหวัดขอนแก่นจำนวน 29 โรงเรียน และจังหวัดนครสวรรค์ 1 โรงเรียน
           

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศไทย 2 ปี ซ้อน ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบต่อมวลมนุษยศาสตร์สูงเป็นอันดับหนึ่งตามพันธะ Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ โดยได้คะแนนสูงสุดด้านการส่งเสริมการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เท่าเทียมและตลอดชีพ ส่งเสริมความมีสุขภาพดีแก่ประชาชนทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทั้งในและต่างประเทศ และผสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั่วโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

   “ฉะนั้นการจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมให้เกิดการผสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามพันธะ SDGs อย่างแท้จริง นอกจากนั้น กิจกรรมที่จัดในวันนี้ ก็จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการทุกท่าน มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมหลักของสถาบันฯ ได้ร่วมสังเกตชั้นเรียนที่ใช้นวัตกรรม ได้เห็นว่า ชั้นเรียนที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร และเพื่อให้ได้ชั้นเรียนแบบนั้น  ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครูต้องทำอย่างไร ต้องวางแผนในการดำเนินงานอย่างไร ดังนั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีกำรแบบเปิด (Open Approach) ตามแนวคิด Whole School Approach”  รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ

ทั้งนี้กิจกรรมในการอบรมเชิงปฏิบัติการใช้เวลา 2 วัน  ระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2563 มีพิธีมอบมอบหนังสือเรียนและสื่อการจัดการเรียนรู้แก่โรงเรียน แนะนำโครงการและชี้แจงปฏิทินการดำเนินงานของโครงการ โดย รักษาการแทนรองผู้อำนวยการและที่ปรึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน อีกทั้งยังมีการบรรยายเรื่อง “การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) : นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”      โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนกิจกรรมวันที่ 11 ตุลาคม 2563  เป็นการกิจกรรมการเปิดชั้นเรียน การจัดการเรียนการสอนแผนบูรณาการ หน่วยการเรียนรู้ภูมิศาสตร์โลก ในกิจกรรม รู้คิดกับโควิด-19 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียน คูคำพิทยาสรรพ์ จังหวัดขอนแก่น คุณครูผู้สอนคือคุณครูพัชรินทร์ สะตะ และมีกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ตามแนวคิด Whole School Approach

อย่างไรก็ตามสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 เมื่อกลุ่มนักวิจัยด้านคณิตศาสตร์ศึกษาได้เริ่มดำเนินงานวิจัยด้านคณิตศาสตร์ศึกษา และได้เริ่มต้นพัฒนานวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และ วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ภายใต้ความร่วมมือระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี  2546 ได้ขยายผลงานวิจัยเพื่อรับการสนับสนุนจากคณะทำงานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค และต่อมาในปี 2547 คณะศึกษาศาสตร์ได้สนับสนุนให้กลุ่มวิจัยด้านคณิตศาสตร์ศึกษา จัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา ของคณะศึกษาศาสตร์ และเมื่อปี 2557-2561 ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโครงการ “การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  จากลักษณะการทำงานของสถาบันฯ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้มอบหมายให้สถาบันฯ ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อเนื่อง ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึงเดือนสิงหาคม 2564 โดยได้ดำเนินการโครงการในรุ่นที่ 1 ไปเมื่อปี 2562 ในโรงเรียนขนาดกลางจำนวน  60 โรงเรียน 18 จังหวัดทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และปัตตานี แลครั้งนี้คือรุ่นที่ 2 ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูวิชาการ และครูระดับชั้น ป.1 – ป.3 จำนวน 150 คน จากโรงเรียนในโครงการ 30 โรงเรียน ซึ่งอยู่ในจังหวัดขอนแก่นจำนวน 29 โรงเรียน และจังหวัดนครสวรรค์ 1 โรงเรียน

Institute for Research and Development in Teaching Profession for ASEAN organizes workshop for teachers to reduce gaps and promote equality in Thai education
https://www.kku.ac.th/7995

ข่าว  :  จิราพร  ประทุมชัย

ภาพ :   สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน

Scroll to Top