ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 แก้ปัญหาขาดแคลน

——สำนักข่าว: สำนักข่าวไทย
URL:
https://www.mcot.net/viewtna/5e96ec2e…
วันที่เผยแพร่: วันที่ 16 เม.ย. 2563
 คณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พร้อมกลุ่มเพื่อนและเครือญาติ ช่วยกันออกทุนประดิษฐ์ตู้ฉายแสงอัลตราไวโอเลต UVC แจกจ่ายโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำไปอบหน้ากาก N95 ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 หวังประหยัดงบประมาณและแก้ปัญหาการขาดแคลน จากวิกฤติขาดแคลนหน้ากาก N95 ของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าที่สัมผัสใกล้ชิดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด ทำให้ 3 ดอกเตอร์ จาก 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ อาจารย์ขนิษฐา คำวิลัยศักดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ภูชิสส์ และอาจารย์ลัดดา ตันวาณิชกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ต่อยอดจากตู้ปลอดเชื้อสำหรับเตรียมจุลชีพทำการวิจัย ด้วยคลื่นสั้น UVC โดยออกแบบเป็นตู้ไม้สี่เหลี่ยม มีราวแขวนหน้ากาก 15 ชิ้นตรงกลาง ติดตั้งหลอดไฟ UVC ขนาด 20 วัตต์ 4 หลอด ตั้งฉากกับราวแขวนให้แสงปะทะโดยตรงกับหน้ากากทั้งาแวด้าน ผลการทดสอบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยชั้นนำในประเทศหลายแห่ง พบว่า ใช้เวลา 15 นาที ก็ฆ่าเชื้อไวรัส รา และแบคทีเรียได้ สามารถนำหน้ากากมาใช้ซ้ำได้ 8 ครั้ง ช่วยประหยัดงบประมาณ แก้ปัญหาการขาดแคลน ไม่คิดค่าแรง ค่าวิชา ตู้อบ UVC มูลค่าราว 5,200 บาทต่อตู้ เป็นทุนส่วนตัวของนักวิจัย ซึ่งบอกบุญกับกลุ่มเพื่อนและเครือญาติกว่า 20 คน ทำแจกจ่ายโรงพยาบาลต่างๆ ในภาคอีสานแล้ว 8 ตู้ นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมฆ่าเชื้อโควิด-19 จากแสง UVC แบบ Station หรือสถานีแบบเปิด แจกจ่ายแล้ว 5 ชิ้น หลักการทำงานเน้นความปลอดภัย เพราะการสัมผัสโดยตรงเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง จึงออกแบบให้หน่วงเวลาการทำงาน 30 วินาที หลังกดปุ่ม เพื่อให้ผู้ใช้ออกจากรัศมีก่อน จากนั้นเครื่องก็จะทำงานครั้งละ 30 นาที เสร็จแล้วจึงเคลื่อนย้ายจนกว่าจะครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องการ ล่าสุดนักวิจัยได้มอบองค์ความรู้ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หาช่างจากภายนอกร่วมผลิตเพื่อประโยชน์ในแวดวงสาธารณสุขต่อไป. – สำนักข่าวไทย
Khon Kaen University, Khon Kaen, 40002 Thailand

https://www.kku.ac.th

Scroll to Top