แพทย์ มข.แนะเช็กอาการ “Heat Stroke” ภัยร้ายหน้าร้อน

อ.นพ.ธนัท ทั้งไพศาล สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แนะเช็กอาการ Heat Stroke ภัยร้ายหน้าร้อน พร้อมวิธีปฐมพยาบาล และวิธีป้องกันเบื้องต้น

ช่วงฤดูร้อนเช่นนี้ หลายคนอาจเห็นข่าวผู้ป่วยโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) ที่บางคนมีอาการรุนแรงจนนำไปสู่การสูญเสีย วันนี้ 7 เมษายน 2566 อ.นพ.ธนัท ทั้งไพศาล สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แนะนำเกี่ยวกับอาการของ Heat Stroke โดยระบุว่า เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากความร้อนสูง จนส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง

สำหรับอาการของ Heat Stroke ผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิแกนกลางร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มีภาวะผิดปกติของระบบประสาท และอาจมีอาการซึมนาน หรือ หมดสตินาน หรือชักเกร็งร่วมด้วย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด Heat Stroke อย่างแรก คือ อายุของผู้ป่วยโดยเด็กเล็ก และผู้สูงอายุมีโอกาสเกิด Heat Stroke มากที่สุด เนื่องจากปรับตัวตามอุณหภูมิได้ไม่ดีมาก อีกส่วนคือ ยาโรคประจำตัว เช่น ยาความดัน หรือ ยารักษาภาวะโรคจิตเวช มีโอกาสทำให้เสี่ยงเกิด Heat Stroke มากขึ้น

สุดท้าย คือ อุณหภูมิประจำวัน หากมีอุณหภูมิร้อนจัดและมีความชื้นสูง จะมีโอกาสเสี่ยงเกิด Heat Stroke เนื่องจากร่างกายระบายเหงื่อได้น้อย

อ.นพ.ธนัท ทั้งไพศาล สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  แนะนำวิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วย Heat Stroke ดังนี้ นำผู้ป่วยออกจากความร้อนมายังพื้นที่อากาศถ่ายเท คลายเสื้อผ้าที่แน่นให้หลวม  พยายามลดอุณหภูมิกายให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธีกระบอกฉีดละอองน้ำและประคบถุงเก็บความเย็นตามร่างกาย และนำส่งโรงพยาบาล หรือ โทร 1669

ทั้งนี้  แม้ Heat Stroke จะเป็นภัยร้ายใกล้ตัว แต่ทุกคนสามารถป้องกันได้ โดยหากทำงานกลางแดดนาน ๆ หรืออยู่ที่กลางแจ้ง แดดร้อน ๆ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือกาแฟ และสังเกตอาการตนเองหากมีอาการวิงเวียนขณะทำกิจกรรมกลางแจ้งให้หยุดพักทันที ขณะเดียวกันควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ระบายอากาศได้ง่าย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

 

 

Scroll to Top