ปฏิทินกิจกรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น

Loading Events

« All Events

  • This event has passed.

นวัตกรรมการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนผสมผสานกับละครเพลง “นางไอ่” ละครเพลงลำเรื่อง (Morlam in Theatre: A New Musical) ครั้งแรกของไทย

3 กันยายน - 5 กันยายน

“นางไอ่” ละครเพลงลำเรื่อง (Morlam in Theatre: A New Musical) ครั้งแรกของไทย
นวัตกรรมการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนผสมผสานกับละครเพลง รูปแบบการแสดงหมอลำแนวทางใหม่ที่จะเปิดม่านการแสดงเป็นครั้งแรก ในงานสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วาระครอบรอบ 30 ปีสะท้อนการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านศิลปกรรม เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดเผยว่า “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. กำลังจะจัดงานวันสถาปนาคณะฯ ในวาระครบรอบ 30 ปี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2567 นี้ และปีนี้เป็นปีพิเศษที่พวกเราชาวศิลปกรรม มข. ต้องการเสนอให้ได้เห็นว่า เราเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านศิลปกรรม เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของคณะฯ จึงจัดให้มีกิจกรรมหลากหลาย เพื่อแสดงศักยภาพชาวศิลปกรรม ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร โดยนำความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาจัดแสดง และสร้างพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมสัมผัส และเรียนรู้ไปพร้อมกับเรา”
กิจกรรมงานสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป โดยคณบดีฯ ย้ำว่าทุกกิจกรรมน่าติดตามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแสดงละครเพลงลำเรื่อง “นางไอ่” ถือว่าเป็นไฮไลท์ที่ทุกคนห้ามพลาด เพราะเป็นผลงานการแสดงที่ต่อยอดจากงานวิจัยระดับปริญญาเอกของ ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม ได้รับงบประมาณสนับสนันจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรม
ร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นการนำหมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอนของชาวอีสานมาทำงานร่วมกับละครเพลง ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์มารวมตัวทำงานกันอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วงโปงลางสินไซ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ได้มาร่วมบรรเลงดนตรีสดในการแสดงด้วย และที่สำคัญ คือ ผนึกกำลังศิลปินหมอลำรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ เอาไว้อย่างลงตัว
ผศ.ดร.พชญ ให้ข้อมูลว่า “การแสดงครั้งนี้ตั้งต้นหลังจากหลังเรียนจบ ป.เอก แล้วรู้สึกว่า อยากให้งานวิจัยที่เกิดขึ้นในสตูดิโอได้ออกเดินทางต่อ และเข้าไปอยู่ในมิติของอุตสาหกรรมหมอลำได้จริง ผมมองว่างานการแสดงหมอลำแนวทางใหม่ที่ค้นพบจากการวิจัย ซึ่งเรียกว่า “หมอลำอินเธียร์เตอร์ (Morlam in Theatre)” เป็นหมอลำประเภทใหม่ที่แตกต่างจากการแสดงหมอลำที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในตอนนี้ เหมาะกับการจัดแสดงในโรงละครหรือในพื้นที่ที่ต้องการผู้ชมสามารถฟังเรื่องราวได้เต็มอรรถรส ได้ฟังลำและการร้องที่แปลกใหม่ ได้ดูการแสดงที่เข้มข้นจากศิลปิน หมอลำ หรือนักแสดงที่เราชื่นชอบกับตัวละครที่เค้าสวมบทบาท นอกจากนี้ ยังมองว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้คณะหมอลำได้มีวิธีการจัดแสดงหมอลำหลังเสร็จสิ้นการแสดงตามฤดูกาลปกติ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ไม่ว่าหมอลำคณะเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ก็ทำได้ เพื่อให้การแสดงหมอลำมีความหลากหลาย เพิ่มเติมการแสดงแบบใหม่เข้าไปในระบบนิเวศการแสดงหมอลำ ให้ผู้คนได้เลือกรับชมตามชอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผู้ชมหมอลำกลุ่มใหม่ และขยายขอบเขตผู้ชมหมอลำให้หลากหลายและกว้างขึ้น”
การกลับมาของละครเพลงลำเรื่อง “นางไอ่” ในครั้งนี้ จึงเป็นครั้งสำคัญ นอกจากจะได้รับแรงสนับสนุนจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้รับการสนับสนุนจากศิลปินหมอลำ และคณะหมอลำมาผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะศิลปินหมอลำไอดอล ศิลปินจากคณะอีสานนครศิลป์ และคณะสาวน้อยลำเพลินโชว์ รวมถึง ศิลปินหมอลำอีกหลายท่าน ภายใต้การดูแลและประสานงานอย่างดียิ่งจากคุณสุชาติ อินทร์พรหม (เฮียหน่อย) ผู้บุกเบิกและสร้างปรากฏการณ์หมอลำฟีเวอร์จากรายการหมอลำไอดอลทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ด้วย
คุณสุชาติ กล่าวว่า “ผมได้ฟัง อ.ต้อง (ผศ.ดร.พชญ) เล่าถึงละครเพลงลำเรื่อง “นางไอ่” ผมรู้สึกดีใจมากที่มีคนอีสานรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำหมอลำที่แปลกใหม่ ผมเองเป็นคนกรุงเทพที่เหมือนจะดูห่างไกลจากหมอลำ แต่เอาเข้าจริงแล้วหมอลำคือการแสดงอันเดียวเลยที่ทำให้ผมหลงใหลได้ขนาดนี้ ผมเลยทำอะไรที่เกี่ยวกับหมอลำ ไม่ว่าจะเป็นคณะหมอลำ รายการหมอลำ และครั้งนี้คือ “ละครเพลงลำเรื่อง” ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ผมอยากทำด้วย ผมเลยไปชวนน้อง ๆ ศิลปินที่ผมดูแลมาร่วมงานนี้ เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ พอทราบว่ามีพ่อครูแม่ครูหมอลำอีกหลายท่านมาร่วมงานนี้ด้วย ยิ่งรู้สึกว่า การแสดงได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้ทั้งรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า ผมว่ามันเป็นการส่งต่อคุณค่าของศาสตร์หมอลำให้กัน เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับศิลปะการแสดงหมอลำ และยืนยันตัวตนของคณะศิลปกรรม มข. ผมเชียร์และเชิญชวนให้ทุกคนมาดูครับ เชื่อว่า “นางไอ่” จะสร้างความประทับใจให้ทุกคนได้อย่างแน่นอน”
เชิญชวนทุกท่านมาร่วมเปิดประสบการณ์รับชมการแสดงหมอลำแนวทางใหม่ Morlam in Theatre (A New Musical) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ละครเพลงลำเรื่อง ครั้งแรกในประเทศไทย โดยครั้งนี้นำวรรณกรรมอีสานคลาสสิคเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่” มาตีความใหม่ และปรับบริบทเรื่องให้เป็นปัจจุบัน ภายใต้ชื่อเรื่อง “นางไอ่” เพื่อเสนอเรื่องราวของมนุษย์ผู้ซ่อนเร้นความลับอันดำมืดไว้ภายใต้ก้นบึ้งแห่งจิตใจ พร้อมกับการเผยธาตุแท้ของมนุษย์ทุกคนที่พัวพันในสังคมที่เต็มไปด้วยอำนาจ การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำที่ยากจะหาทางออกได้ การแสดงนำเสนอจินตนาการใหม่ของตัวละครนางเอกในนิทานรักโรแมนติกมาเป็นนางเอกในเรื่องเล่าที่มีอยู่ในชีวิตจริง ซึ่งจะเหมือนหรือแตกต่างจากภาพจำของนิทานเรื่องเดิมอย่างไร และเรื่องนางไอ่จะจบลงแบบตำนานหนองหานล่มหรือไม่ต้องมาร่วมชมในวันที่ 3-5 กันยายน 2567 ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นำแสดงโดย อาย ปาลิตา อ๊อฟ สุรพล และนนท์ อชิระ จากหมอลำไอดอลซีซัน 1 สมทบด้วยนักแสดงมากความสามารถ อาทิ พิ้ง ปรางทิพย์ เดียร์ อภิญญา ตาอี๋ สาธิต ชาญชัย จตุรงค์ รุ่งฟ้า กุลาชัย ยิ้ม สมฤดี
แต้มสี อนุทัย นักแสดงตลกมากฝีมือ อาทิ ตุ๊บตั๊บ น็อต นภา อัจฉรา และนักแสดงอีกมากมาย
#กำกับการแสดงโดย พชญ อัคพราหมณ์
#กำกับดนตรีโดย อาทิตย์ กระจ่างศรี
#บทการแสดงโดย พชญ อัคพราหมณ์ พงศธร พุทธโคตร และสัจจาวุธ สุริยะดง
#ประพันธ์กลอนลำโดย ธีรวัฒน์ เจียงคำ และบุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
#อำนวยการผลิตโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
#ที่ปรึกษา ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น
คุณสุชาติ อินทร์พรหม ผู้บริหารคณะหมอลำอีสานนครศิลป์ และกรรมการบริการคณะศิลปกรรมศาสตร์
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวการแสดงได้โดยสแกน QR Code (ในโปสเตอร์)
หรือ Facebook Fanpage: Morlam Next Level
หรือโทรสอบถามได้ที่ 063-6529396, 082-1694963

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/fakkukhonkaen 

เพิ่มเติมรายละเอียดข่าว https://th.kku.ac.th/194985/

 

Venue

คณะศิลปกรรมศาสตร์
Scroll to Top