มหาวิทยาลัย 4.0

สำนักข่าว: มติชน ออนไลน์
URL: https://www.matichon.co.th/columnists/news_2460350
วันที่เผยแพร่: 27 พ.ย. 2563

โลกในศตวรรษที่ 21 คือสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง และหลากหลาย ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาตามมาในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ประสบปัญหาความท้าทายอย่างสูง ศาสตราจารย์ Clayton Christensen จาก Harvard Business School ได้เขียนบทความลงหนังสือ The Innovative University ซึ่งมีผลกระทบไปทั่วโลก โดยระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปกว่า 500 มหาวิทยาลัยจาก 4,400 กว่ามหาวิทยาลัย และประเมินว่า อีก 10 ปีถัดจากนี้มหาวิทยาลัยจะปิดตัวครึ่งหนึ่งของที่เหลืออยู่คือ อีกประมาณ 2,000 กว่ามหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าอัตราของการปิดตัวเร็วขึ้น 4 เท่า นายแพทย์อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยตั้งคำถามในการบรรยายในวันที่ 4 มกราคม 2561 ว่า “มหาวิทยาลัยในเมืองไทยจะปิดตัวลงไปเท่าไหร่? อาจจะไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนจะปิดตัวเกือบหมด เหลือเพียงประมาณร้อยละ 20 โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา เด็กเข้ามหาวิทยาลัยเอกชนลดลงอย่างมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐจะปิดตัวประมาณ 1 ใน 3 ถ้าไม่ปรับตัว”

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอันยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยนั้นมีที่มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจากเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี กว่า 10 ปีก่อนมีเด็กเกิดใหม่กว่า 1 ล้านคน แต่ในปัจจุบันพบว่ามีเพียง 700,000 คน และคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรไทยในวัยอุดมศึกษาจะลดลงถึง 1 ล้านคน (2) การเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมและทัศนคติของนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ ที่ค้นพบว่าความรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน มีพฤติกรรมในการหาความรู้ที่เฉพาะเจาะจงตามที่ต้องการที่ไม่ต่อเนื่อง และหลากหลายอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยังมองว่าประสบการณ์จริงนั้นสำคัญกว่าการเรียนในห้องเรียน มหาวิทยาลัยจึงอาจปรับตัวไม่ทันจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ และ (3) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัย
ไม่ได้มีเฉพาะแค่ภายในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก วิทยาลัยนานาชาติต่างๆ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้แผนงานคนไทย 4.0 ริเริ่มโครงการมหาวิทยาลัย 4.0 เพื่อฉายภาพในอนาคตให้มหาวิทยาลัยไทยเริ่มกระบวนการสร้างแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวโดยวิธีการคาดการณ์อนาคต (Strategic foresight) และได้เชิญชวน 3 มหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจการก่อตั้งใกล้เคียงกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยนำร่อง

ในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 คุณวิรไท สันติประภพ เป็นผู้วิพากษ์ผลงานมหาวิทยาลัย 4.0 ของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย เสนอความเห็นว่า “การปฏิวัติ (Disruption)” พบเห็นได้บ่อยครั้งในโลกของเทคโนโลยี (Digital disruption หรือ Disruptive technology) และเป็นที่น่าสังเกตว่าเกือบทุกธุรกิจที่ถูกปฏิวัตินั้น มักจะเกิดจากกลุ่มของธุรกิจอื่นที่ไม่ได้อยู่ในวงธุรกิจเดิมเข้ามาทำการปฏิวัติ
การที่มหาวิทยาลัยจะปฏิวัติตนเองได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการคิดนอกกรอบ (Think outside the box) ขับเคลื่อนด้วยความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการเงิน ที่ฉีกบริการด้านการเงิน (Financial services) เป็นบริการย่อยๆ แยกออกจากกัน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้บริการที่แตกต่างกัน ธุรกิจการสื่อสารมวลชน ที่ปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอข้อมูล (Content) ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมหาวิทยาลัยอาจเกิดการปฏิวัติได้ทั้งจากตัวมหาวิทยาลัยเองหรือจากธุรกิจอื่นที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ดีกว่า ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็น Modules online, Value research หรือบริการสังคม

โจทย์สำคัญคือ มหาวิทยาลัยจะสามารถคาดการณ์และตั้งรับการปฏิวัตินี้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยสามารถยึดความเป็นองค์รวมของมหาวิทยาลัยที่มีแต่เดิมไว้ได้ ค้นหาและเน้นย้ำจุดแข็งของตนเอง (Self-advantage) ถึงแม้มหาวิทยาลัยแบบองค์รวมจะไม่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคนได้ แต่ก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของสังคมได้ในระดับหนึ่ง

เทคโนโลยีในอนาคตจะช่วยให้โลกเป็นเขตไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้น แต่ทรัพยากรจะมีจำกัดมากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรที่จะสร้างแพลตฟอร์มกลางที่สามารถแบ่งปัน (Open-source) และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ (Sharing system) สำหรับทุกคน และสืบเนื่องจากทรัพยากรที่จะมีจำกัดมากขึ้น การรับรู้และส่งต่อข้อมูลข่าวสารจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเรียนผ่าน YouTube เป็นต้น คำถามคือ มหาวิทยาลัยจะสามารถทลายและหยุดการสร้างพรมแดนได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนระหว่างคณะในมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอกเองก็ตาม

ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรเริ่มนำแนวคิดแบบ Digital-first ครอบคลุมระบบการทำงานทั้งหมด อาทิ วิธีการทำงาน วิธีการเก็บข้อมูล วิธีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ไม่ว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร “Digital technology” จะต้องเป็นเสาหลักของวิธีใน
การบริหารจัดการมหาวิทยาลัย เพราะ Stakeholders จะให้คุณค่ากับมหาวิทยาลัยที่สามารถใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่า

หากมหาวิทยาลัยต้องการจะพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่จะค้นหาว่าอะไรที่ควร “เลิก” เพราะการเริ่มทำนั้นทำได้ง่ายกว่าการเลิกทำ หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ การจัดสรรทรัพยากร (Resource reallocation) จะเกิดได้ต้องเริ่มต้นด้วยแรงจูงใจของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้า Incentive structure ไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็จะยังคงมีความปัจเจกสูง มหาวิทยาลัยจะก็อยู่กับที่ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

เห็นทีมหาวิทยาลัยจะต้อง “เลิก” ก่อน “เริ่ม” แล้วโอนทรัพยากรมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง!

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

Scroll to Top