ประธานกรรมาธิการฯ เยี่ยม SMART LEARNING ม.ขอนแก่น ชื่นชมทำได้ดี เล็งขยายครอบคลุมทั่วไทย เน้น รร.ขยายโอกาส มั่นใจรัฐบาลหนุน

“อัครวัฒน์” ตรวจ Smart Learning ขอนแก่น ยอมรับ มข.ทำได้ดี ทำได้จริงทุกจังหวัดทั่วอีสาน เล็งต่อยอดครอบคลุมทั่วไทย มั่นใจรัฐบาล เอาด้วย เน้นหนักกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส และ ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2564 เมื่อเวลา 15.00 น. ที่โรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม หรือ KKU Smart Learning Academy ซึ่งโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม จ.ขอนแก่น เป็นโรงเรียนต้นแบบของการดำเนินงานดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข ประธานโครงการ KKU Smart Learning ดร.อาทิตย์ ธำรงชัยชนะ รอง ผอ.สพม.25 (ขอนแก่น) และ นางเพ็ญประภา ซุยกระเดื่อง รอง ผอ.รร.อุบลรัตน์พิทยาคม ร่วมให้การต้อนรับ ท่ามกลางความสนใจจากบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภาคอีสานร่วมชมนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

โดยคณะกรรมาธิการฯได้ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน ผ่านนิทรรศการที่โรงเรียนได้จัดทำขึ้น รวมทั้งการให้คณะทำงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คณาจารย์ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา และการชมห้องเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์,ภาษาอังกฤษและวิชาวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้น ม.1-ม.3 ตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนในขั้นตอนของการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวทั้งหมด

นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร

          นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวต่ออีกว่า “ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ขอชื่นชมการทำงานของ มข.ที่มาถูกทาง ทำได้ดีและทำได้จริง สิ่งที่สำคัญคือระบบการเรียนนี้ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อและเทคโนโลยี และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาของหลักสูตรในระดับชั้นที่เรียน อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลงพื้นที่ดูโรงเรียนต้นแบบและดูแนวทางการดำเนินงานที่ภาคอีสานทำให้เห็นได้เป็นที่เด่นชัด จะมีการนำเสนอต่อรัฐบาลได้การขยายการเรียนการสอนดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศต่อไป เพราะเมื่อขอนแก่นมี หลายจังหวัดในภาคอีสานมี จ.สมุทรปราการ ที่ตนเองนั้นรับผิดชอบ ก็จะต้องมีด้วย ซึ่งหากจะมองแต่งบประมาณและนำสัดส่วนมาบวกลบคุณหาร บางทีก็ไม่ทั่วถึง แต่หากเน้นหนักไปในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนที่ห่างไกล และโรงเรียนเฉพาะทาง จากการนำระบบดังกล่าวนี้มาใช้ ด้วยการถอดแบบจาก มข. ขยายไปยังทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ หรืออาจจะเป็นความร่วมมือร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย ของแต่ละภูมิภาค เชื่อได้ว่าทุกจังหวัดจะได้รับการพัฒนาระบบการเรียนการสอน ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามนโยบาย 4.0 ที่รัฐบาลได้กำหนดได้อย่างชัดเจนนำไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษาของไทย ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง”

ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข ประธานโครงการ KKU Smart Learning Academy (ซ้ายสุด)

ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข ประธานโครงการ KKU Smart Learning Academy  กล่าวว่า โครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม ” KKU Smart Learning” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจของนักเรียนในสาระวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วย วิชาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะนวัตกรรมพัฒนาการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศและเทคโนโลยี และทักษะด้านชีวิตและอาชีพ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ พัฒนาการสอบของเด็กนักเรียนในการวัด PISA ครั้งต่อไปต้องดีขึ้น, ผลสอบคะแนน O-Net ของนักเรียนต้องดีขึ้นและสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียนต้องดีขึ้น ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมดำเนินการในโครงการดังกล่าว โดยที่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ามาร่วมลงมือเพื่อช่วยกันพัฒนาเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ด้วยการส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในเนื้อหารายวิชาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน

” ปัจจุบันการดำเนินงานดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม โรงเรียนสังกัด สพฐ. ครอบคลุม 20 จังหวัดภาคอีสาน จำนวน 204 โรงเรียน และโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 16 โรงเรียน และที่สำคัญจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น การเรียนการสอนในยุคดิจิทัลที่มีเครื่องมือเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาท ดังนั้นในนวัตกรรมของโครงการ KKU Smart Learning จึงเป็นเครื่องการันตีและแสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

เรียบเรียง  : จิราพร ประทุมชัย

ข้อมูล /ภาพ :  KKU Smart Learning Academy 

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top