มข.หนุนเศรษฐกิจฐานรากชุมชนครบวงจรส่งเสริมการปลูกและรับซื้อบัวบกราคาสูง ให้คณะเภสัชศาสตร์ใช้วิทยาการขั้นสูงสกัดสารสำคัญสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

        วันที่ 28 ธันวาคม 2563 เวลา 9.00 น. ที่ศูนย์เรียนรู้สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการส่งมอบใบบัวบกแห้งอินทรีย์ ชุดแรก ของกลุ่มเกษตรกรหนองหญ้าม้า ตำบลบ้านหนองเหล็ก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โดย นาย เสถียร ยอดสิง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปสมุนไพรและผลผลิตทางการเกษตรหนองหญ้าม้า ให้กับผู้เกี่ยวข้องในโครงการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการศึกษาและบริการวิชาการ  รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายธวัช รัตนมนตรี  ผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.จารุพงศ์ ประสพสุข นักวิทยาศาสตร์ด้านวิชาการเกษตรโดยมีคณาจารย์ บุคลากร และสื่อมวลชนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

        ทั้งนี้ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปสมุนไพรและผลผลิตทางการเกษตรหนองหญ้าม้า ตำบลบ้านหนองเหล็ก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม จึงได้ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ในลักษณะ BCG economy เช่น Bio-economy (เศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร)โดยมีการส่งเสริมการปลูกบัวบกซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยปลูกแบบอินทรีย์ ไม่มีสารปนเปื้อน เพื่อนำมาสกัดเป็นสารสำคัญและนำไปต่อยอดเป็นสารสกัดทางธุรกิจ เช่น เวชสำอางค์ อาหารสุขภาพ และยาสมุนไพร โดยคณะเภสัชศาสตร์ ดำเนินการครบวงจรตั้งแต่รับซื้อบัวบก นำมาสกัด แยกสารสำคัญ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขณะที่สำนักบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นส่งเสริมการปลูกบัวบกแบบอินทรีย์จากวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำมาป้อนให้กับโรงงานผลิตภัณฑ์ของคณะเภสัชศาสตร์โดยคณะเภสัชศาสตร์รับซื้อบัวบกแห้งที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ กิโลกรัมละ 700 บาท ซึ่งในการส่งมอบครั้งนี้เป็นจำนวน 100 กิโลกรัม ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มอบเงินจำนวน 70,000 บาทให้กับผู้แทนวิสาหกิจชุมชนในการจัดซื้อในโอกาสเดียวกันนี้

        รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ  ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการทำงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับชุมชน ซึ่งเดิมการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเราจะเข้าไปยกระดับเศรษฐกิจให้กับชุมชนในรูปแบบหนึ่ง แต่มาถึงปัจจุบันรัฐบาลมีความคาดหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยได้เป็นพี่เลี้ยงและใช้ศักยภาพของเราเข้าไปยกระดับเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นความหวังในการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไว้มากถึงร้อยละ60 ของรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดเช่นนี้เศรษฐกิจฐานรากเป็นตัวชี้อนาคตประเทศไทยว่าเราจะเอาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เราสั่งสมมานานจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร สำหรับการดำเนินงานครั้งนี้คณะเภสัชศาสตร์แสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีความรู้ขั้นสูงที่เป็นต้นทุนที่ถูกเก็บไว้เข้าไปยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใสคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตั้งโจทย์และมอบนโยบายไว้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะต้องมีความร่วมมือกับชุมชนองค์ความรู้ที่มีต้องไม่ใช่เพียงแค่ขึ้นหิ้งแต่ต้องขึ้นห้างเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและสังคมในแบบ Creating Shared Value หรือ CSV คือการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องมีบทบาทในการนำสังคม คณะเภสัชศาสตร์รับแนวนโยบายมาสู่การปฏิบัติ โดยเรามีเครื่องมือขนาดใหญ่และเทคโนโลยีชั้นสูงในการสกัดร้อนและสกัดเย็นเพื่อการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าตัวยาสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่เป็นทางด้านชีวภาพสนับสนุนการเกิด Bio-economy ได้เป็นอย่างดี ภายใต้นโยบายที่สนับสนุนทางด้านเครื่องมือเทคโนโลยีชั้นสูงเช่นการสกัดเย็นยิ่งยวดเพื่อลดการสูญเสียตัวยาสำคัญ หรือเทคโนโลยีไมโครเวฟที่ทำให้เกิดสารสกัดที่มีคุณภาพ เครื่องมือเหล่านี้นำไปสู่ความร่วมมือทางสังคมได้
        รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส กล่าวต่ออีกว่า เราพบว่าบัวบก (Gotu kola) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Centellaasiatica (L.) Urb. จัดเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่สำคัญ ที่จะถูกแปรรูปเป็นสารสกัด เพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งนี้บัวบกมีประโยชน์มากมายและมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย สารสำคัญที่พบในบัวบกจัดอยู่ในกลุ่มไตรเทอปินอยด์ไกลโคไซด์ (Triterpenoid glycoside) ประกอบด้วยกรดเอเซียติก (Asiatic acid) สารเอเชียตีโคไซด์ (Asiaticoside) กรดแมดิแคสซิค (Madecassic acid) หรือสารแมดิแคสซอล (Madecassol) ซึ่งสามารถลดความเสื่อมของเซลล์อวัยวะต่างๆของร่างกายได้ และยังช่วยเร่งการสร้างสารคอลลาเจน (Collagen) ที่เป็นโครงสร้างของผิวหนัง จึงมีการนำบัวบกมาใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นให้แผลสมานตัวได้เร็ว โดยพืชบัวบกจัดอยู่ในบัญชียาสมุนไพรแห่งชาติทั้งในรูปแบบ และรูปแบบยาทาภายนอก เพื่อลดอาการฟกช้ำ อีกทั้งมีรายงานว่าใบบัวบกมีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย ได้แก่ ช่วยบํารุงประสาทและความจํา เพิ่มการไหลเวียนเลือด บํารุงหัวใจ บํารุงตับ เป็นต้น

        นอกจากนี้ยังมีการนำวัตถุดิบบัวบกมาสกัดด้วยเทคโนโลยีทางเภสัชกรรม เช่น การสกัดด้วยเครื่องไมโครเวฟ และเครื่องสกัดแรงดันสูง Supercritical Fluid Extraction (SFE)เพื่อให้ได้สารสำคัญที่สูงขึ้น และสะดวกในการนำไปเป็นสารตั้งต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหารเสริม เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์บัวบกอย่างครบวงจรตั้งแต่ส่งเสริมการปลูก จะทำให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดให้นักวิชาการ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจ นำไปสู่การส่งเสริมรายได้สู่ภาคเกษตรกรรมและชุมชน

นาย เสถียร ยอดสิง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปสมุนไพรและผลผลิตทางการเกษตรหนองหญ้าม้า

        นาย เสถียร ยอดสิง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปสมุนไพรและผลผลิตทางการเกษตรหนองหญ้าม้า ซึ่งได้เดินทางมาเพื่อส่งมอบผลผลิต พร้อมด้วยเกษตรกรในชุมชน กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยเข้าไปส่งเสริมและรับซื้อในราคานี้นับเป็นที่พอใจของเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจและพร้อมที่จะดำเนินการปลูกและจัดส่งให้เพียงพอกับความต้องการ เพราะบัวบกที่เคยส่งขายยังไม่เคยได้ราคาที่ดีนักแต่ทั้งนี้กระบวนการขั้นตอนการทำใบบัวบกแห้งอินทรีย์ถือได้ว่าต้องดูแลอย่างดีเพราะเราต้องควบคุมคุณภาพและดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นการปลูกแบบอินทรีย์จึงโตช้า โดยตอนนี้ปลูกกันใน 7 ครอบครัวมีพื้นที่รวมประมาณ 3 ไร่ ยังสามารถขยายการปลูกต่อไปได้อีก

นายธวัช รัตนมนตรี ผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

       นายธวัช รัตนมนตรี  ผู้อำนวยการกองบริหารงานสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าที่ผ่านมาเราได้มีชุมชนต้นแบบในการไปสนับสนุนชาวบ้านในการยกระดับอาชีพหลายอย่าง เช่น การเพาะเห็ด การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ โดยการนำคณาจารย์ที่ทีความรู้ไปถ่ายทอดซึ่งเราพบว่ามีการพัฒนาได้ระดับหนึ่ง มาถึงขณะนี้เรามองการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจฐานรากแบบ Transform ด้วยแนวคิดใหม่คือการนำเอาสิ่งที่เราพบในชุมชนจากการลงพื้นที่มากว่า30ปีมาบูรณาการผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงจากคณะวิชาต่างๆที่หลากหลายที่เรามีเพื่อการพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เช่นเดียวกับ การส่งเสริมการปลูกบัวบกซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อนำมาสกัดเป็นสารสำคัญโดยความรู้ความเชี่ยวชาญของคณะเภสัชศาสตร์และนำไปต่อยอดเป็นสารสกัดทางธุรกิจที่มีมูลค่ากลับไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกต่อไป

ภาพ/ข่าว อุดมชัย สุพรรณวงศ์

Scroll to Top