คณะเกษตรศาสตร์ มข. MOU ร่วมกับบริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด

 

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและการผลิตพืชผักและผลไม้อย่างมีคุณภาพในเชิงพาณิชย์ ระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ และ บริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด  โดย  นายถิระพันธ์ ชาญเลขา กรรมการบริหาร  โดยมี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ และผู้บริหาร บริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 1 อาคาร AG08 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท เอ็กเซล  ฟรุตส์ จำกัด ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการและพัฒนาบุคลากรระหว่างคณะเกษตรศาสตร์และกลุ่มเอ็กเซล ฟรุตส์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรระหว่างคณะเกษตรศาสตร์และกลุ่มเอ็กเซล ฟรุตส์ เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านการศึกษาวิจัย และบริหารจัดการองค์ความรู้ร่วมกัน และเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตพืชและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องโดยใช้หลักวิชาการและเทคโนโลยีชั้นสูง

รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (COVID-19) ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของภาคการเกษตรและหันมาทำการเกษตรกันมากขึ้น ทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นที่ทราบกันดีว่า ผักและผลไม้สดถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับปัญหามากมายทั้งด้านกระบวนการผลิต คุณภาพสินค้าและการส่งออก ดังนั้น ในโอกาสนี้ คณะเกษตรศาสตร์ ยินดีให้การสนับสนุนทั้งด้านบุคลากร สถานที่ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์เพื่อช่วยสนับสนุนการวิจัยพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้คุณภาพมากยิ่งขึ้น

นายถิระพันธ์ ชาญเลขา กรรมการบริหาร บริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด

นายถิระพันธ์ ชาญเลขา กรรมการบริหาร บริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด กล่าวว่า จากปัญหาที่สหภาพยุโรป (EU) ตรวจพบศัตรูพืชกักกัน ได้แก่ หนอนชอนใบ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ และแมลงวันทอง ในสินค้าผัก ผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศไทยบ่อยครั้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สหภาพยุโรปเข้มงวดด้านสุขอนามัยพืชที่นำเข้ามากขึ้น โดยประกาศว่าหากตรวจพบปัญหาศัตรูพืชกักกันเกิน 5 ครั้งภายใน 1 ปี จะมีมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าพืชผัก 5 กลุ่ม 16 ชนิด ประกอบด้วย 1. กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า 2. มะระจีน มะระขี้นก 3. มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาว มะเขือขื่น 4. พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู และ 5. ใบผักชีฝรั่ง

จากปัญหาสถานการณ์การส่งออกพืชผักจากประเทศไทยไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้ บริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถส่งออกผักในบางชนิดได้ หรือได้ในปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการของลูกค้า เช่น กะเพรา โหระพา พริกสด ผักชี และถั่วฝักยาว เป็นต้น ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ และแก้ปัญหาในการผลิตพืชและผักสมุนไพรเพื่อการส่งออกสำหรับบริษัทฯ ซึ่งได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหา รวมถึงได้วางแผนพัฒนานวัตกรรมการผลิตผักและสมุนไพรปลอดสารพิษในระบบปิด โดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านการปลูกพืชในระบบปิด (Plant Factory) ที่มีความเฉพาะและเหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ของโรงงาน และชนิดของผัก ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตมีความปลอดภัยมีความสะอาด มีคุณภาพสูงและเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออก

ทางเราได้พบกับ ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร ทราบว่ากำลังทำวิจัยในด้านนี้อยู่ ซึ่งทางเราต้องการมาก ได้ปรึกษาหารือ จึงขอความร่วมมือกับทางคณะเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาเเละเเก้ปัญหาผลิตพืช เพื่อให้กิจการของทางบริษัทก้าวหน้าเเละขณะเดียวกันเป็นการเเลกเปลี่ยนในมุมของธุรกิจให้กับทางด้านมหาลัย โดยเฉพาะคณะเกษตรศาสตร์ได้ฝึกนักศึกษาและฝึกบุคลากรที่มีคุณภาพและรู้เเนวทางของทางด้านการตลาด

ผมเป็นตัวเเทนของ บริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด ขอกราบขอบพระคุณท่านคณบดี ผู้บริหาร และคณาจารย์ คณะเกษตรศาสตร์ที่ให้โอกาสทางบริษัท ข้อตกลงในวันนี้เป็นการเริ่มต้นเสริมสร้างในอนาคตต่อไป

ด้วยความพร้อมของทีมวิจัยของสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีประสบการณ์มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ในการผลิตและปรับปรุงพันธุ์พืชทั้งในระบบเปิด และในระบบควบคุม และความร่วมมือจากทาง บริษัท เอ็กเซล ฟรุตส์ จำกัด ซึ่งคาดว่าภายหลังเสร็จสิ้นโครงการวิจัยจะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตผักเพื่อการส่งออก และสามารถต่อยอดในพืชชนิดอื่น ๆ ในการผลิตผักเพื่อการส่งออกมากยิ่งขึ้นต่อไป

Scroll to Top