คณะเภสัชศาสตร์นำร่องระบบการสอบออนไลน์ตามนโยบายยุทธศาสตร์ Digital Transformation

“คณะเภสัชศาสตร์นำร่องระบบการสอบออนไลน์เต็มรูปแบบ ผู้บริหารยืนยัน
มีการซักซ้อมและกำกับขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ
เน้นให้ผู้สอบสามารถใช้ระบบด้วยความมั่นใจ”

         รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าคณะเภสัชศาสตร์ได้พัฒนาระบบการสอบออนไลน์ที่เป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์ Digital Transformation ของ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถือว่าได้ดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จด้วยดี อันมาจากความร่วมมือของทั้งคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานของนายกสโมสรทั้งชุดเก่าและปัจจุบัน กรรมการสโมสรนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อให้กระบวนการสอบดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักการสำคัญคือ 1 การมีระบบที่ดี 2 การกำกับไม่ให้เกิดการทุจริตในการสอบ 3 การสอบที่ไม่ให้ผู้สอบได้อยู่รวมกันเพื่อเป็นไปตามมาตรการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของ Covid – 19 ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้คณะได้ใช้โปรแกรม ZOOM ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใสคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

         รศ.ดร.ศักดา ดาดวง รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ระบบการสอนและการสอบออนไลน์เป็นการสนองตอบนโยบาย Digital Transformation ที่อธิการบดีได้มอบให้ไว้ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ก็ได้นำมาพัฒนาการเรียนการสอนมาโดยตลอด แต่ด้วยโอกาสสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid – 19 ที่ต้องมีเรื่องของ Physical Distancing จึงทำให้เราต้องเร่งดำเนินการให้ขั้นตอนต่างๆเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการสอบปลายภาคของนักศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์จึงได้ให้แนวทางนโยบายเพื่อให้การสอบครั้งนี้เป็นการใช้ระบบออนไลน์ เพื่อเป็นอีกก้าวของการเป็น    Digital    Universityที่มีความชัดเจน ดังนั้นฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษาได้เริ่มดำเนินการโดยมี คุณ สินไชย เงินคุณด้วงหัวหน้างานการจัดการห้องปฏิบัติการ และ คุณ กุลธิดา รักศิลป์หัวหน้างานการจัดการศึกษาและจัดการทั่วไปเข้ามาร่วมกันพัฒนาระบบขั้นตอน นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนครั้งนี้อีกเช่น นศ. อุ้มบุญ รวิโชติกุล นศ. พิมพ์สศุจี ยอดศิริ และ นศ. ณัฐพล เอี่ยมสากล ซึ่งทุกส่วนต้องเร่งดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาที่สั้นมาก

รศ.ดร.ศักดา ดาดวง รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

         รศ.ดร.ศักดา ดาดวง กล่าวว่า สิ่งที่เราคำนึงมากที่สุดคือนักศึกษา เพราะนักศึกษาต้องมีความเข้าใจในระบบและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างครบถ้วน เราได้หารือร่วมกันกับนายกสโมสรทั้งในชุดปัจจุบันและชุดใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนนักศึกษาที่จะช่วยสื่อสารทำความเข้าใจ โดยมีการประชุมตัวแทนนักศึกษาทุกชั้นปีราว 30 คนเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วนำมาประมวลผลเพื่อปรับปรุงขั้นตอนในอีกหลายรอบ ไปพร้อมกับระบบการติดต่อนักศึกษาที่งานการจัดการศึกษาและจัดการทั่วไปได้มีข้อมูลทั้งทางอีเมลล์และโทรศัพท์ที่สามารถดำเนินการควบคู่ไปด้วยดี นักศึกษาทุกคนที่จะเข้าสอบรับรู้ขั้นตอนวิธีการ

        “สถานการณ์ในขณะนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่เริ่มกลับภูมิลำเนา แต่เพื่อให้นักศึกษาทุกคนมีความมั่นใจไม่วิตกกังวลเราจึงจัดการซ้อมสอบระบบออนไลน์ด้วยข้อสอบจำลอง ทำให้เราพบปัญหาอุปสรรคที่นักศึกษามีความวิตกกังวลเช่น ความเสถียรระบบอินเตอร์เน็ตในต่างถิ่นที่นักศึกษาอยู่ จึงมาสู่การออกแบบวิธีการสำรองในกรณีต่างๆเช่น กรณีอินเตอร์เน็ตไม่ทำงาน ระบบปฏิบัติการล้มเหลว หรือไฟดับ เหล่านี้เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาลดความวิตกกังวลซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ” รศ.ดร.ศักดา ดาดวง กล่าว

         รศ.ดร.ศักดา ดาดวง กล่าวว่า ในขั้นตอนการจัดสอบเราตั้งเป้าหมายไว้ 4 ด้านคือ 1.การแสดงตัวตนของนักศึกษาได้อย่างถูกต้องด้วยการผ่านเข้าสู่ระบบด้วยอีเมล์และการแสดงบัตรประจำตัวพร้อมตัวจริงผ่านหน้าจอในช่วงแรกของการเริ่มสอบเมื่อมีการเรียกชื่อผู้เข้าสอบ 2.ต้องไม่เกิดกรณีของการทำข้อสอบแทนกัน 3.ต้องไม่เกิดกรณีของการลอกผลการสอบกัน 4.รักษาระยะห่างตามแนวทาง Physical Distancing ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้คุมสอบประจำห้องควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ที่คณะเภสัชศาสตร์จะเป็นผู้คอยตรวจสอบให้เป็นไปตามขั้นตอน



ตอบข้อถามถึงความมั่นใจการป้องกันการทุจริตในการสอบและมาตรฐานของผลการสอบที่เกิดขึ้นจากวิธีการนี้ รศ.ดร.ศักดา ดาดวง เผยว่า นักศึกษาทุกคนได้รับข้อมูลในเรื่องกฎระเบียบหรือบทลงโทษในกรณีนี้และมีความเข้าใจดี ในขณะที่ระบบออนไลน์ของโปรแกรมที่นำมาใช้มีประสิทธิภาพที่ดี สามารถบันทึกเหตุการณ์ตลอดการสอบ และสื่อสารทั้งภาพและเสียงได้2ทาง ซึ่งเมื่อเริ่มการสอบจะไม่อนุญาตให้นักศึกษาออกไปจากหน้าจอที่กรรมการมองเห็น ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดซึ่งเราได้มีแผนสำรองในการติดต่อกับผู้สอบอยู่แล้ว และ ที่สำคัญคือเราเชื่อมั่นว่านักศึกษาทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและความตระหนักต่อความสุจริตในการสอบตามที่เราปลูกฝังไว้ให้
      วิธีการหลักของการสอบจะใช้โปรแกรม ZOOM ร่วมด้วย ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะต้องโหลดโปรแกรมการใช้งานไว้ในอุปกรณ์เช่นโทรศัพท์มือถือ และต้องมีคอมพิวเตอร์หรือแท็ปเลตไว้เพื่อเตรียมรับข้อสอบทางอีเมลล์ และเอกสารการตอบคำถามอิเลคทรอนิกส์ทาง Google Form เมื่อถึงวันสอบจะมีเวลาการลงทะเบียนเข้าสอบก่อนเวลาสอบจริงเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งผู้คุมสอบจะส่งลิ้งค์ให้ผู้สอบได้กดเพื่อเข้าสู่ห้องสอบและเริ่มตรวจรายชื่อแสดงตัวตน ครั้นเมื่อถึงเวลาเริ่มการสอบจะมีการส่งข้อสอบไปยังทุกคนพร้อมกันในเวลาเดียวกันผ่านอีเมลล์และกระดาษคำตอบอิเลคทรอนิคส์ในแบบ Google Form ซึ่งข้อสอบจะมีทั้งปรนัยและอัตนัยตามที่อาจารย์ประจำวิชาได้ส่งข้อสอบมาเช่นเดียวกับการสอบในห้องสอบทุกประการ จนเมื่อสิ้นสุดเวลาสอบนักศึกษาจะมีเวลาทบทวนการตอบข้อสอบซึ่งสามารถแก้ไขการตอบของตนเองได้ทุกข้อภายใน 15 นาทีก่อนการยืนยันส่งผลสอบของตนเอง ซึ่งทั้งหมดของขั้นตอนจะถูกกำกับการคุมสอบโดยบุคลากรที่เราได้ซักซ้อมขั้นตอนไว้เป็นอย่างดี
         คุณ สินไชย เงินคุณด้วง หัวหน้างานการจัดการห้องปฏิบัติการและ คุณ กุลธิดา รักศิลป์ หัวหน้างานการจัดการศึกษาและจัดการทั่วไป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบ กล่าวว่า จุดสำคัญอยู่ที่ระบบอินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยที่ต้องมีความเสถียรเป็นอย่างยิ่งซึ่งเราได้ความร่วมมืออย่างดีจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศในขั้นตอนการเตรียมการ นอกจากนั้นในระดับคณะที่ต้องเตรียมเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือไว้ให้พร้อมรวมทั้งผู้ปฏิบัติงานที่เป็นโปรแกรมเมอร์ที่พร้อมจะแก้ไขปัญหาได้อย่างทันที ในส่วนของการจัดการนั้นได้มีการปรับปรุงข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับนักศึกษาให้มีความถูกต้องเพื่อติดต่อนักศึกษาได้เป็นรายบุคคล อีกทั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเพื่อไปทำหน้าที่กรรมการคุมสอบ ซึ่งผลในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นที่พอใจ ซึ่งการสอบออนไลน์ยังช่วยให้เราประหยัดทรัพยากรได้หลายส่วนอีกด้วย
         นางสาวอุ้มบุญ รวิโชติกุล นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า เดิมทีนั้นนักศึกษาจำนวนหนึ่งมีความกังวลการสอบออนไลน์เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่เมื่อมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องทั้งจากคณะและจากสโมสรนักศึกษารวมทั้งได้มีการซ้อมสอบไปแล้วทุกคนก็คลายกังวลและมองเห็นว่าเป็นข้อดีที่ทุกคนไม่ต้องเดินทางกลับมาจากภูมิลำเนาเพื่อสอบ

นางสาวอุ้มบุญ รวิโชติกุล นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 4

         รศ.ดร.ศักดา ดาดวง รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา กล่าวในตอนท้ายว่า การเข้าสู่แนวทางของ Education Transformation จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากทั้งกระบวนการของการจัดการศึกษา ซึ่งไม่ใช่แค่การสอบเท่านั้น แต่เป็นการเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ซึ่งเนื้อหาที่เป็นความรู้ควรเรียนรู้ด้วยตนเองในยุคใหม่ที่อาศัยระบบออนไลน์ ส่วนเมื่อต้องมาเจอกับผู้สอนจะเป็นเรื่องของการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งรวมถึงทักษะฝีมือที่นักศึกษาต้องแสดงสมรรถนะและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในการเรียนรู้ ดังนั้นสัดส่วนการจัดการศึกษาในระบบออนไลน์จึงจะเริ่มมีมากขึ้นซึ่งทุกคนต้องปรับเปลี่ยนการเรียนรู้และวิธีการให้ทัน

อุดมชัย สุพรรณวงศ์ / ข่าว-สัมภาษณ์
ภาพประกอบ : คณะเภสัชศาสตร์ มข.

Scroll to Top