มข.เดินหน้า “โขนมอดินแดง” ปั้นเยาวชนอีสานสืบสานวัฒนธรรมไทย สู่การแสดงยิ่งใหญ่ในสีฐานเฟสติวัล 2567

หลายครั้งที่หน้าไทม์ไลน์โซเชียลปรากฏโปสเตอร์โปรโมตการแสดง “โขน” ซึ่งจะจัดขึ้นในขอนแก่น แล้วได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนที่นั่งเต็มทุกรอบการแสดง สะท้อนให้เห็นว่าคนอีสานให้ความสนใจกับศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงนี้อยู่มาก โดยปัจจัยหลัก คือ เสน่ห์ของรูปแบบการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนโอกาสในการรับชมที่หาได้ยาก นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ผศ.ดร.สุขสันติ แวงวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เดินหน้าปั้น โขนมอดินแดง” ด้วยความหวังว่าอยากจุดประกายให้ โขน” รุ่งเรืองที่เมืองขอนแก่น

ไม่ใช่เฉพาะในภาคอีสานเท่านั้นที่มีโอกาสรับชมโขนได้ไม่บ่อยนัก แต่ ผศ.ดร.สุขสันติ เปิดเผยว่า โขน เป็นการแสดงที่ดำเนินไปเฉพาะในวงการเท่านั้น โดยจะปรากฏในวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร โรงมหรสพเฉลิมกรุง หรือการแสดงตามฤดูกาล เทศกาลโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น งานประเพณี หรือ งานพระราชทานเพลิงศพ กระทั่งมูลนิธิศิลปาชีพได้เปิดการแสดงโขนปีละ 1 ครั้ง ณ โรงละครศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จึงเป็นโอกาสต่อลมหายใจให้โขนกลายมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

โขน เป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ก่อนจะถูกพัฒนาเรื่อย ๆ จนมาสู่สถาบันการศึกษา แม้จะแพร่หลายในภาคกลาง แต่กลับไม่ได้รับความนิยมในภาคอีสานมากนัก ทั้งที่โขน คือ ศิลปะประจำประเทศไทย เป็นมรดกโลก จึงทำให้เกิดแนวคิดว่า อยากทำโขนมอดินแดง โขนเพื่อคนอีสาน”

จากนโยบายสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงนำมาสู่การผลักดันให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ศูนย์กลางการแสดงวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ด้วยประสบการณ์เรียนรู้ “โขน” มาตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กระทั่งเติบโตกลายมาเป็นผู้สอน “โขน” ที่จังหวัดอ่างทอง รวมระยะเวลากว่า 29 ปี คนโขน” อย่าง ผศ.ดร.สุขสันติ แวงวรรณ จึงมีความหวังว่าอยากจะสืบทอดการแสดงโขนที่หลายคนมองว่าเป็นของภาคกลางให้เข้าถึงคนอีสาน เช่นเดียวกันกับส้มตำที่เป็นอาหารอีสาน เมื่อไปอยู่ภาคใต้ก็เป็นส้มตำใส่สะตอ เมื่อไปอยู่ทะเลก็เป็นส้มตำใส่ซีฟู้ด แต่ไม่ว่าที่ไหนส้มตำก็ยังเป็นส้มตำอยู่ โขนก็เช่นกัน เมื่อมาอยู่ภาคอีสานก็ต้องเข้าใจความเป็นอีสาน คนอีสานรักความสนุก ตรงไปตรงมา เศร้าก็คือเศร้า สิ่งเหล่านี้ต้องถูกศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อนำมาปรับการแสดงทั้งหมดให้เข้ากับคนอีสาน แทนที่เวลาดูโขนต้องใช้สมาธิสูง แต่เราจะทำให้โขนใกล้ตัวคนอีสานมากยิ่งขึ้น และนี่คือที่มาของคำว่า “โขนมอดินแดง” 

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มต้นจากการเปิดอบรมให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และบุคคลทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 180 คน มีตั้งแต่เด็กเล็ก นักเรียนมัธยมศึกษา นักศึกษา ไปจนถึงคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ที่ได้มาเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างโขนคืออะไร มีตัวละครไหนบ้าง ก่อนจะแบ่งกลุ่มเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง เพื่อเรียนรู้รับท่ากับวิทยากรหลักและวิทยากรอาสา 25 คน ตลอด 4 วัน รวมเป็นเวลา 32 ชั่วโมง

ช่วงเริ่มต้นนี้เราหวังว่าจะได้เห็นภาพรวมว่าชาวขอนแก่นหรือคนอีสานสนใจโขนมากขนาดไหน ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกันภาพที่เราเห็นผ่านการเรียนการสอนในโครงการ คือ การที่พ่อแม่ และลูกได้มาเรียนโขนร่วมกัน ลูกมีสมาธิ มีวินัย พ่อแม่สามารถใช้เวลาร่วมกับลูก ไปพร้อม ๆ กับการสืบทอดวัฒนธรรมไทยด้วยถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก”

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยังบอกอีกว่า นอกจากความมีระเบียบวินัย และมีสมาธิแล้ว สิ่งที่น้อง ๆ จะได้ติดตัวกลับไป คือ ทักษะการแสดงที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การสมัครเข้าเรียนต่อทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือในระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนทักษะการทำงานเป็นทีม ความเข้าใจขนบประเพณีวัฒนธรรมไทย ไปจนถึงการสร้างรายได้พิเศษจากการรับงานแสดงโขนในเทศกาลต่าง ๆ หรือการทำคอสตูม เล่นดนตรี และพากย์เสียง เรียกได้ว่า เยาวชนที่มาเรียนรู้ในครั้งนี้ได้ทั้งความรู้ ทักษะไปต่อยอดแล้ว ยังได้ช่วยเป็นกำลังสำคัญของการผลักดันให้โขนรุ่งเรืองที่เมืองขอนแก่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจบโครงการ “โขนมอดินแดง” ระยะแรกแล้ว กระแสตอบรับและความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายนำไปสู่การต่อยอดจะเกิดเป็น ชมรมนาฏศิลป์ขอนแก่น” เพื่อสานต่อโครงการโขนมอดินแดง ระยะ 2 โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานที่ปรึกษา และมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ผศ.ดร.สุขสันติ แวงวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงนายวรศักดิ์ วรยศ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมเป็นที่ปรึกษา และเปิดพื้นที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้วย

เบื้องต้น จะเปิดรับสมัครโครงการโขนมอดินแดงระยะต่อไปในเดือนตุลาคม 2567 โดยจะเปิดรับ 200 คน และมีการเรียนการสอน 5 สัปดาห์ ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้มีโอกาสขึ้นเวทีแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ โดยผู้ชมจะได้ดื่มด่ำไปกับ 2 ศาสตร์การแสดง คือ โขนหลวง และนาฏกรรมอีสานมาผสมผสานดำเนินเรื่องเกี่ยวกับธรรมะและอธรรม การต่อสู้ที่จบลงด้วยความสงบสุขผ่านสีสันแห่งสายน้ำและการบูชาพญานาค ภายในเวลา 10 นาที กับการแสดงโขนเปิดงานสีฐานเฟสติวัล 2567 งานลอยกระทงสุดยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ด้าน นายธนทรัพย์ ลาพวง ชั้นปีที่ 1 สาขานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ส่วนตัวชื่นชอบการแสดงโขนอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่ามีการเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการโขนมอดินแดงจึงสนใจสมัครเข้ามาเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของตัวเอง อีกทั้งยังได้รู้จักกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ หลากหลายคน แม้จะตื่นเต้นบ้าง แต่รู้สึกสนุกและดีใจมากที่ตัดสินใจเข้าร่วมในครั้งนี้เพราะเป็นโอกาสพิเศษที่ได้อาจารย์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและสอนอย่างใกล้ชิด

เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ พยัคฆ์กูล ชั้นปีที่ 1 สาขานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่บอกว่า มีพื้นฐานการเรียนโขนมาก่อนแล้ว เมื่อมาเข้าร่วมโครงการโขนมอดินแดง ทำให้ได้เรียนรู้ท่าใหม่ ๆ ฝึกเทคนิคกับเพลงที่หลากหลาย ได้พัฒนาทักษะ และปูพื้นฐานให้แน่นยิ่งขึ้น โดยมั่นใจว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วจะช่วยให้นำไปต่อยอดในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งยังสามารถไปหารายได้เสริมนอกเวลาเรียน พร้อมกับการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไปได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านการแสดงศิลปะโขน โครงการโขนมอดินแดง ต้องมีคุณสมบัติเป็น นักเรียน / นักศึกษา /ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ ตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานการแสดงศิลปะโขน สามารถเข้าอบรมได้ตลอดเวลาของหลักสูตร โดยมีค่าสนับสนุน 2,000 บาท/คน สามารถสมัครได้ที่ : https://kku.world/biiv0 ตั้งแต่วันที่ 5 – 11 ตุลาคม 2567 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม นางสาวอนุศรา คำงาม นักวิชาการวัฒนธรรม ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 0991674664

 

KKU Ignites Cultural Passion with “Khon Mor Din Daeng”: A Spectacular Journey to Si Than Festival 2024

https://www.kku.ac.th/18627