มข.ยกวิจัยสู่ชุมชน พัฒนา “โรงเรือนอัจฉริยะ” ปลูกพืชผักได้ทุกฤดู ไม่หวั่นฝนตก-น้ำแล้ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรทั้งปี

ฝนตก น้ำท่วม หรือ ฤดูร้อน น้ำแล้ง หรือ ฤดูหนาว ศัตรูพืชบุก จะช่วงไหน ก็ยังได้ยินข่าวผักแพง ผลไม้ขาดตลาด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรต้องเผชิญทุกปี จะดีกว่าใหม่ถ้าอุปสรรคเหล่านี้สามารถควบคุมได้ โครงการพัฒนาโมเดลนำร่องในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยกลไกมหาวิทยาลัย (CIGUS Model) ภายใต้ทุนวิจัยสนับสนุนโดย สกสว. นำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเดินหน้าศึกษาวิจัยพัฒนา “โรงเรือนอัจฉริยะ” บูรณาการวิชาการเพื่อสร้างประโยชน์สู่สังคม

หลังทำวิจัยเกี่ยวกับการผลิตปุ๋ย ผลิตดินปลูก จุลินทรีย์ต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการมานาน แต่ ผศ.ดร.นันทวัน ฤทธิ์เดช  อาจารย์สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความเชื่อมั่นว่างานวิจัยไม่ควรจะอยู่บนหิ้งเท่านั้น แต่ควรสร้างประโยชน์เพื่อชุมชนได้ จึงได้ร่วมกับนางสาวพรระพี สารินทร์ ผู้ช่วยนักวิจัย นำองค์ความรู้มาร่วมต่อยอดเป็นโรงเรือนอัจฉริยะร่วมกับ รศ. ดร.นรชิต จิรสัทธรรม และทีมคณะเศรษฐศาสตร์

ผศ.ดร.นันทวัน กล่าวถึงคุณสมบัติของโรงเรือนอัจฉริยะว่า งานวิจัยนี้ช่วยควบคุมศัตรูพืชและธาตุอาหารในดินได้เป็นอย่างดี ด้วยสูตรดินเพาะปลูกที่มีการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาจากเศษวัสดุ สิ่งเหลือใช้ต่าง ๆ ในชุมชน มาผสมกับดินในท้องถิ่น แกลบ และมูลวัว ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการหมักจนกลายเป็นสูตรดินที่มีแร่ธาตุ N P K ครบถ้วน มีคุณสมบัติเทียบเท่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์


“ดินโดยทั่วไปมักจะผสมส่วนผสมต่าง ๆ แล้วนำมาขายให้แก่เกษตรกรทันที แต่ดินสูตรของทีมวิจัยนี้ผ่านการหมักมาแล้ว ส่งผลให้เมื่อนำมาใช้ปลูกพืชผักจะช่วยให้เจริญเติบโตได้ดี ลดความเสี่ยงรากเน่าได้ อีกทั้งยังลดปัจจัยเรื่องศัตรูพืช และจุลินทรีย์ที่ไม่ดีต่าง ๆ ได้อีกด้วย”

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาปุ๋ยอินทรีย์น้ำยับยั้งโรคพืช และป้องกันศัตรูพืช ด้วยการผสมเปลือกผักผลไม้ หญ้า หมักกับกากน้ำตาล ใช้เวลา 30-40 วันจนย่อยมาเป็นน้ำหมักไว้ฉีดบำรุงผักที่ปลูก ซึ่งปุ๋ยนี้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมีแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดขยะในชุมชนตามแนวคิด “Zero Waste” ขณะเดียวกันโรงเรือนอัจฉริยะยังสามารถควบคุมระบบอุณหภูมิและการรดน้ำได้ด้วยแผงควบคุมอัตโนมัติที่ติดอยู่กับเชลเตอร์ปลูกผักความสูง 60 เซนติเมตร เพื่อปรับการรดน้ำให้เหมาะสมกับผักแต่ละชนิดในแต่ละฤดูกาลอีกด้วย 

“เมื่อปลูกผักในโรงเรือนอัจฉริยะจะช่วยให้สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดของพืชผักได้ ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตทั้งดินและปุ๋ย สร้างรายได้ได้ตลอดทั้งปีไม่ว่าจะฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาว หรือแม้แต่ช่วงน้ำท่วม ผักที่ถูกปลูกบนเชลเตอร์ในโรงเรือนก็ยังสามารถเติบโตต่อไปได้ ไม่ถูกฝนตกหนักใส่หรือน้ำท่วมขังจนตาย”

ปัจจุบันโรงเรือนอัจฉริยะเดินหน้ามาถึงขั้นตอนการทดลองปลูกในพื้นที่จริงในชุมชนหนองหญ้าข้าวนก ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น แล้ว พร้อมกับการลงพื้นที่ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับสูตรดิน วิธีการสร้างปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และเทคนิคการปลูกผักต่าง ๆ ผ่านการประสานงานเชื่อมโยงชุมชนกับนักวิจัยโดยนางสาวจารุวรรณ ใจบาล  และ นายภูชิชย์  จิตนะ ตัวแทนบริษัท สฤก จำกัด บริษัทในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายใต้ความร่วมมือและถือหุ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น


เบื้องต้น เป็นการปลูกต้นกล้า ทั้งผักบุ้ง ผักกวางตุ้งฮ่องกง และกะเพรา เพื่ออนุบาลต้นกล้าให้แข็งแรงก่อนจะนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรในชุมชนกว่า 30 ครัวเรือน ได้นำไปปลูกต่อเพื่อสร้างรายได้ต่อไป ซึ่งการปลูกผักแต่ละรอบใน 1 โรงเรือนสามารถปลูกได้ถึง 50-60 ถาด หรือประมาณ 5,000 – 6,000 ต้น โดยระยะเวลาในการปลูกแต่ละรอบจะขึ้นอยู่กับชนิดของผักนั่นเอง

ขณะที่ ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา หัวหน้าโครงการ CIGUS Model  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อยอดโรงเรือนอัจฉริยะ โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกผักที่มีความต้องการในตลาดสูงทั้งผักสลัด ผักเคล ขึ้นฉ่าย ผักชี หรือใบงาที่เริ่มมีการทดลองปลูกแล้ว ขณะเดียวกันทีมวิจัยยังเตรียมศึกษาค้นคว้าเพื่อขยายการปลูกพืชผักไปยังด้านล่างเชลเตอร์ โดยจะเลือกผักที่ต้องการแสงสว่างน้อย เช่น ถั่วงอก หรือ ต้นอ่อนทานตะวัน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร

“คณะเศรษฐศาสตร์มีการวางแผนการตลาดควบคู่ไปกับการให้องค์ความรู้ผลิตพืชผักต่าง ๆ นับเป็นอีกก้าวของการต่อยอดธุรกิจในภาคการเกษตรและเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรโดยเฉพาะในภาคอีสานสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพสินค้า สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี และช่วยสร้างภาพจำปรับมุมมองให้คนรุ่นใหม่ไม่มองว่าอาชีพเกษตรกรคือทางเลือกสุดท้ายในวันที่ไม่มีงานทำ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาชีพเกษตรกรกำลังเดินทางมาถึงจุดที่คนรุ่นใหม่กำลังท้าทายกับความคิดว่าจะต่อยอดจากรุ่นพ่อแม่หรือไม่ แต่ข้อดีของเด็กรุ่นใหม่บางส่วน คือ การมีต้นทุนที่ดี ทั้งที่ดินเพาะปลูก และภูมิปัญญา เมื่อมีผลิตผลแล้ว สิ่งที่ต้องเสริมคือองค์ความรู้ 

ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมที่ให้องค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมไปจนถึงด้านการตลาดเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังมีหลักสูตรและวิชาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการบริหารจัดการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างธุรกิจ และในเร็ว ๆ นี้กำลังจะมีหลักสูตร Non-Degree ให้เลือกเรียนวิชาที่สนใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะ เศรษฐศาสตร์ ESG ที่จะช่วยสนับสนุนการทำเกษตรอย่างยั่งยืน และตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้ใดสนใจเรียนเกี่ยวกับการสร้างสูตรดินหรือปุ๋ย คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา ก็พร้อมสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ผ่านวิชาต่าง ๆ หรือสามารถเข้าร่วมหลักสูตรอบรมการผลิตดินปลูกสำหรับบุคคลทั่วไปได้ด้วยเช่นกัน

Scroll to Top