ร่วมส่งแรงใจเชียร์! 2 หนุ่มวิศวะฯ มข.ตัวแทนประเทศไทย สู้ศึกหุ่นยนต์เคลื่อนที่ในเวทีระดับโลก WorldSkills Lyon 2024 ประเทศฝรั่งเศส

สุดภูมิใจนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น นายศักดา ดีแสง และ นายณัฐนันท์ กมลผาด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เเละปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ 2 เยาวชนตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 หรือ WorldSkills Lyon 2024 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในสาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robotics) (ประเภททีม) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 17 กันยายน 2567  

เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 2 เดือนกับการเดินทางสู่ความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่

      ด้วยความสนใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ทั้ง 2 หนุ่มเลือกเดินตามความฝันสอบเข้าคณะที่ใช่ หลักสูตรที่ชอบ และปรึกษาคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เข้าร่วมการแข่งขันเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในเวทีระดับโลก และวันนี้ฝันของพวกเขาก็เป็นจริง หลังฝ่าฟันกับการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคตั้งแต่เรียนอยู่ปี 2 จนไปถึงระดับประเทศในปี 3 และเมื่อขึ้นปี 4 บททดสอบต่อไปคือการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในฐานะตัวแทนประเทศไทย 

         นายศักดา และ นายณัฐนันท์ เปิดเผยว่า การแข่งขันสาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ในครั้งนี้มาพร้อมกับโจทย์ หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งจะมีภารกิจให้หุ่นยนต์ต้องพิชิตทั้งหมด 8 module ตั้งแต่ A-H โดยแต่ละทีมจะต้องใช้สกิลในการประกอบอุปกรณ์หุ่นยนต์จากเครื่องมือที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์โดยใช้ทั้งภาษา C++, Java และ Python เพื่อเคลื่อนที่ หลบสิ่งกีดขวาง การตรวจสอบผลผลิตต่าง ๆ  หรือการเก็บผลผลิต ซึ่งความท้าทายของการแข่งขันนี้ คือ ยังไม่ทราบว่าจะได้หุ่นยนต์แบบไหน และภารกิจแบบใด ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างละเอียด ทดลองพื้นฐานในการสร้างเงื่อนไขโจทย์ให้หลากหลาย และอัดแน่นความรู้พื้นฐานให้เข้มข้นทั้งคำนวณการรับน้ำหนัก ความเร็ว ความเร่ง และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ

           สำหรับการแข่งขันจะมีทั้งหมด 6 วัน โดย 2 วันแรกทาง WorldSkills จะให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ และลงพื้นที่สนามก่อน จากนั้นจะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 วันตามแต่ละ module ซึ่งทางทีมนายศักดา และ นายณัฐนันท์เอง ก็ได้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน โดยเชื่อว่าจุดแข็งของทีม คือ การเรียนรู้กลยุทธ์คู่แข่งเพื่อนำมาปรับใช้และเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมไทยรวมถึงมีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และทนรับแรงกดดันได้เป็นอย่างดี พร้อมเดินหน้าสู้กับทุกโจทย์ที่ท้าทายเพื่อคว้าคะแนนมาให้ได้มากที่สุด

โอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย แม้จะมีความตื่นเต้น แต่ก็มีความพร้อมและตั้งใจเต็มที่ ฝึกซ้อมทุกวัน ทดลองเขียนโปรแกรมให้มากที่สุด เพื่อดูข้อดีข้อเสีย หรือข้อบกพร่องที่สามารถปรับปรุงได้ โดยหวังว่าความพยายามในครั้งนี้จะช่วยให้เอาชนะคู่แข่งอีก 22 ประเทศ คว้าเหรียญทองกลับมาประเทศไทยได้สำเร็จ ฝากชาว มข.และชาวไทยส่งใจเชียร์พวกเราด้วยนะครับ

ด้าน รศ.ดร.ธนา ราษฎร์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่นั้น มีหุ่นยนต์ตั้งแต่ 2 ล้อ 4 ล้อ มีล้อรูปทรงพิเศษ ล้อสไลด์ข้าง และอีกมากมาย ดังนั้น สิ่งสำคัญของการแข่งขันครั้งนี้จึงมี 2 อย่าง คือ ด้านกลศาสตร์สำหรับการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ และด้านโปรแกรมซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ ที่ต้องสอดรับกันเพื่อปฏิบัติภารกิจให้ได้สมบูรณ์แบบ 100% ซึ่งนักศึกษามีเวลาในการเตรียมตัวประมาณ 4 เดือนหลังจากได้รับโจทย์มา โดยทางหลักสูตรก็ได้สนับสนุนทั้งด้านสถานที่ ข้อมูล เทคนิคต่าง ๆ โดยมีคณาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์มาร่วมให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้น


การแข่งขันในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสใหญ่ที่นักศึกษาได้รับ ทั้งยังเป็นการแข่งขันเวทีระดับโลกที่มีผู้เข้าร่วมทุกรายการมากกว่า 1,000 คน ซึ่งการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่ไม่ใช่การแข่งขันที่ใครเก่งที่สุด แต่ยังดูเรื่องของความเป็นระเบียบ ความเป็นทีมเวิร์กต่าง ๆ เกณฑ์การให้คะแนนรัดกุมทุกกระบวน อีกส่วนที่ท้าทายและยากมาก คือ มีการล็อกบอร์ดสำหรับการเขียนโปรแกรมที่เป็นข้อจำกัดให้ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมเองเพื่อแสดงศักยภาพให้ได้มากที่สุด จึงหวังว่าทุกคนจะช่วยส่งกำลังใจและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวแทนประเทศไทยของเด็ก ๆ ในครั้งนี้

ขณะที่ รศ.ดร.ปาพจน์ เจริญอภิบาล ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า WorldSkills จัดมาหลายครั้งแล้ว นับเป็นเวทีระดับโลกที่เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาประเทศต่าง ๆ นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการแข่งขัน และได้มุมมองเกี่ยวกับเทรนด์อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และมีประสบการณ์โดยตรง เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนการสอนในหลักสูตร วิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (Automation Robotics and Intelligent SystemEngineering) นี้ที่เน้น Active Learning เน้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถนำความรู้มาใช้ได้จริง

นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนศาสตร์ที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการฝึกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติที่ใช้กันในโรงงานสมัยใหม่ในห้องปฏิบัติการ นับเป็นแหล่งบ่มเพาะบัณฑิตที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคต นักเรียนที่สนใจทั้งด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญหาประดิษฐ์ก็สามารถมาเรียนต่อได้ที่นี่เพื่อต่อยอดความชอบสู่อาชีพในอนาคตได้”

Please cheer 2 KKU engineering students, Thai representatives to the WorldSkills Lyon 2024 Contest in France

https://www.kku.ac.th/18261

 

Scroll to Top