นักเทคนิคการแพทย์ มข. ผลงานเยี่ยม ! คว้ารางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ

ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย นักเทคนิคการแพทย์ งานห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึกฯ ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

     จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต” Medical Sciences Innovations : From Lab to Life ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2567  ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยจัดให้มีการประกวดผลงานรางวัล DMSc Award เปิดโอกาส ให้บุคลากรทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักวิจัยมีเวทีส่งผลงานเข้าประกวด โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดการประชุมฯ และพระราชทานรางวัลฯ

ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย นักเทคนิคการแพทย์ รางวัลชนะเลิศ DMSc Award

ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย นักเทคนิคการแพทย์ รางวัลชนะเลิศ DMSc Award

     ผลปรากฎว่า ผลงาน การพัฒนาระบบบริการชั้นเลิศการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรคเครือข่ายโรงพยาบาลศรีนครินทร์(Development of the Best Service of Expanded newbornScreening in Srinagarind Hospital Network) โดย ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย งานห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา


     ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย กล่าวถึงผลงาน ว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นศูนย์ตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกและภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รักษาโรคหายาก บริการแบบครบวงจรทั้งตรวจวินิจฉัยและรักษาเพียงแห่งเดียวในส่วนภูมิภาค ให้บริการโรงพยาบาลเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 7 และ 8 รวม 11 จังหวัดของภาคอีสาน มากกว่า 170 โรงพยาบาล ซึ่งต้องรองรับการตรวจทารกแรกเกิดมากถึง 60,000-70,000 รายต่อปี จึงได้มีการพัฒนาระบบบริการและโปรแกรม KKU-IEM web ซึ่งเป็น online web-based เพื่อใช้รับส่งต่อข้อมูลทารกแรกเกิดและรายงานผลการตรวจให้ผู้ใช้งานปฏิบัติงานได้ง่าย ติดตามสถานะสิ่งส่งตรวจได้แบบ Real-time ผลการดำเนินงานพบว่าสามารถค้นหาทารกแรกเกิดโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก และภาวะพร่องไทรอย์ฮอร์โมนได้ และนำไปสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถเพิ่มอัตรารอดชีวิตในขวบปีแรกของทารกโรคหายากได้มากขึ้น 10% และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคหายากในขวบปีแรกลงได้มากกว่า 200,000 บาทต่อคนต่อปี

ทีมงาน การพัฒนาระบบบริการชั้นเลิศการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรคเครือข่ายโรงพยาบาลศรีนครินทร์(Development of the Best Service of Expanded newbornScreening in Srinagarind Hospital Network)
ทีมงาน การพัฒนาระบบบริการชั้นเลิศการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรคเครือข่ายโรงพยาบาลศรีนครินทร์(Development of the Best Service of Expanded newbornScreening in Srinagarind Hospital Network)

     นอกจากนั้น ดร.ทนพ.นพพร ยังได้กล่าวถึงความรู้สึกถึงการได้รับรางวัล ด้วยว่า “ รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมาก เนื่องจากเป็นรางวัลที่อันทรงเกียรติจากงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และเป็นรางวัลที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ขอขอบคุณคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการ หัวหน้างานห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร หัวหน้าหน่วยจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ และนักเทคนิคการแพทย์หน่วยจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำทุกท่าน เครือข่ายเขตสุขภาพที่ 7 และ 8 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าน ผศ.นพ.กุณฑล วิชาจารย์ กุมารแพทย์เวชพันธุศาสตร์ สาขากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้จนประสบความสำเร็จ”  เราจะพยายามพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการคัดกรอง และป้องกันโรค เพื่อเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กไทย ซึ่งจะนำไปสู่ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต และเราพร้อมจะเป็นผู้นำ และส่งต่อองค์ความรู้ให้กับที่อื่นๆ ในภูมิภาค ให้พัฒนาไปพร้อมกันในระดับสากล

ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย ร่วมบรรยายวิชาการเกี่ยวกับผลงานของผู้ได้รับรางวัล
ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย ร่วมบรรยายวิชาการเกี่ยวกับผลงานของผู้ได้รับรางวัล

     สำหรับ การประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน ในงานมีการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักวิชาการ ได้มีเวทีนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ โดยเฉพาะในปีนี้นอกจากงานวิชาการในเชิงลึกแล้ว มีการเปิดเวทีให้งานประเภท Routine to Research หรือ R2R ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในงานประจำมาร่วมนำเสนอผลงานด้วย ซึ่งมีผลงานที่ส่งเข้าร่วม 426 เรื่อง แบ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการด้วยวาจา 47 เรื่อง โปสเตอร์ 211 เรื่อง และ R2R 168 เรื่อง รวมทั้งมีการสัมมนาทางวิชาการการเสวนา โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย ได้ร่วมบรรยายวิชาการเกี่ยวกับผลงานของผู้ได้รับรางวัลครั้งนี้ด้วย

 

ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข้อมูลเพิ่มเติม : เว็บไซต์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

Scroll to Top