VET KKU จับมือ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ศึกษารีดน้ำเชื้อสัตว์ป่าหายาก แช่แข็งเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์

คณะผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์และวิทยาการสืบพันธุ์  คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย ผศ.น.สพ.พงษ์ธร สุวรรณธาดา อาจารย์ประจำหน่วยวิทยาการสืบพันธุ์ ผศ.น.สพ.ดร. สุชาติ วัฒนชัย อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาศัลยศาสตร์  ผศ.น.สพ. สราวุธ ศรีงาม อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการสืบพันธ์ุ และ  อ.น.สพ.ดร. ศักดิ์ศิริ ศิริเสถียร  อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการสืบพันธุ์  ได้นำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และศึกษาการรีดน้ำเชื้อและการทำน้ำเชื้อแช่แข็ง สัตว์ป่าหายาก  ณ ฝ่ายบริหารจัดการสัตว์ สำนักงานเชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี  เมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา

ผศ.น.สพ.พงษ์ธร สุวรรณธาดา อาจารย์ประจำหน่วยวิทยาการสืบพันธุ์

ผศ.น.สพ.พงษ์ธร สุวรรณธาดา  เปิดเผยว่า  การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมีมาตั้งแต่ ปี 2561 ซึ่งคณะได้รับเชิญจากรุ่นน้องที่มีความสนใจศึกษาพฤติกรรมและฮอร์โมนของเสือปลาซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์หายาก และจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์ นอกจากเสือปลา ก็มีเสือลายเมฆ เสือไฟ เป็นสัตว์ที่ได้รับความคุ้มครอง และมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ การเก็บตัวอย่างและกระบวนการทดลองต่างๆ จะถูกดำเนินการเพียงเฉพาะสัตว์ในสวนสัตว์เท่านั้น การวิจัยเรื่องนี้กินเวลานานหลายปี  เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง  เช่น การจัดเก็บน้ำเชื้อ จะต้องมีการเหนี่ยวนำการกระตุ้นให้ตัวเมียตกไข่และฉีดน้ำเชื้อที่แช่แข็งไว้ไปผสมในแต่ละครั้ง  การวางยาสลบสัตว์  ไม่สามารถทำได้บ่อยๆ เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ จึงเป็นความท้าทายในการศึกษาเพื่อจะได้น้ำเชื้อที่มีคุณภาพ

ปัจจุบันจำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดที่มีการลดลงอย่างต่อเนื่องในธรรมชาติ  ความร่วมมือในการรีดน้ำเชื้อสัตว์ป่าหายาก  เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำเชื้อ และทำน้ำเชื้อแช่แข็ง ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญในการช่วยวางแผนประชากรสัตว์ป่า อาทิ สมเสร็จมลายู และหมีหมาโดยการผสมเทียม   และได้ทำการรีดเก็บน้ำเชื้อของสัตว์ป่าอีกหลายชนิด  อาทิ กวางผา เลียงผา เสือไฟ เสือดาว เสือลายเมฆ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่สำหรับการขยายและอนุรักษ์สัตว์หายาก และมีวิธีการเก็บรักษาน้ำเชื้อที่มีประสิทธิภาพ ผ่านเครื่องที่สามารถแช่แข็งน้ำเชื้อที่สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 20-30 ปี นับเป็นความร่วมมือในโครงการต่อเนื่องในการวิจัยและอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าหายากร่วมกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นประโยชน์ต่อการเรียนของนักศึกษาที่ได้ลงปฏิบัติงานในพื้นที่จริง และช่วยอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป 

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู

ภาพ  :   ผานิต  ฆาตนาค / คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top