ศึกษาศาสตร์เตรียมความพร้อมพัฒนาหลักสูตร ป.ตรีและบัณฑิตศึกษาทั้งระบบสู่มาตรฐาน AUN-QA

เมื่อระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง ED-TEAL ชั้น 4 หน่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ จัดกิจกรรม อบรมเชิงปฏิบัติการ “เตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA” หัวข้อ AUN-QA Overview & Gap Analysis วิทยากรโดย รศ.ดร.นันทรัตน์ โฆมานะสิน โดยมี รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการอบรม “AUN-QA Overview & Gap Analysis” เป็นกระบวนการวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการตรวจประเมินและประเมินคุณภาพของหลักสูตรในมุมมองของ AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance), ซึ่งเป็นระบบการประกันคุณภาพสำหรับการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอกในประเทศสมาชิกของ AUN (ASEAN University Network) กระบวนการ “AUN-QA Overview & Gap Analysis” นี้มุ่งเน้นการตรวจสอบและประเมินคุณภาพของหลักสูตรที่มีในคณะศึกษาศาสตร์โดยเปรียบเทียบระดับคุณภาพของหลักสูตรกับเกณฑ์ AUN-QA และทำการวิเคราะห์ความห่างแตกต่างหรือข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้คุณภาพของหลักสูตรมีความสอดคล้องกับมาตรฐาน AUN-QA ให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล และเพิ่มความเชี่ยวชาญในการจัดการการศึกษาและคุณภาพของหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดแรงงานและประชาคมโลกในปัจจุบันและอนาคต

รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร กล่าววว่า “นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่หลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ทั้ง 17 หลักสูตร ได้นำเกณฑ์ AUN-QA Version 4 มาใช้ในการประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตร คิดเป็น 100 % ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับคุณภาพหลักสูตรด้วยเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล ที่มุ่งหวังผลลัพธ์การเรียนรู้ตามแนวทาง Outcome-Based Education (OBE) และให้สอดคล้องกับเกณฑ์ AUN-QA ซึ่งสาระสำคัญของเกณฑ์ AUN-QA ที่มุ่งเน้น Expected Learning Outcome (ELO) และการประเมิน 7 ระดับที่มีระดับสูงสุด คือ ระดับมาตรฐานโลก (World class) นั้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาคมโลก หลักสูตรจึงต้องผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถเหมาะสมกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้ง AUN-QA มีลักษณะเป็นเกณฑ์ที่กำหนดแนวทางเพื่อการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อการผลิตบัณฑิตตาม ELO ซึ่งจะทำให้หลักสูตรสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและถือว่ามีความสำคัญต่อคุณภาพของหลักสูตร”

Scroll to Top