สถาปัตย์คว้ารางวัลชนะเลิศออกแบบพัดลมโครงการ SHARP ELECTRIC FAN DESIGN COMPETITION 2023

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดการออกแบบพัดลมในอนาคต SHARP ELECTRIC FAN DESIGN COMPETITION 2023”  ประกาศผลเมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566  ณ  MUN SANDBOX โซน  MUNx2 Seacon Square (ศรีนครินทร์) กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา

การประกวดออกแบบพัดลม ภายใต้แนวคิด NEW USER EXPERIENCE” ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างบริษัท เฟดเดอรัล อีเลคตริค จำกัด  ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ SHARP ร่วมกับ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม (Industrial Design)  คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ (AAD) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) โดยได้จัดให้มีกิจกรรม Roadshow ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ได้มีผลงานส่งเข้าร่วมในรอบคัดเลือก จำนวน 40 ทีม จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และคัดเลือก 7 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้า สู่รอบ Final Round และกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน และยังได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จาก บริษัท เฟดเดอรัล อีเลคตริค จำกัด เข้าร่วมกิจกรรมการตัดสินการประกวดในครั้งนี้ ซึ่งผลปรากฏว่า

ทีม Power of P นักศึกษาจากสาขาวิชาการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท มีสมาชิกดังนี้
นายพิชญ์พศิน บูรณะฤทธิ์ทวี
นางสาวธัญจิรา แก่นสุวรรณ
นายเปรม นินนานนท์

นายพิชญ์พศิน บูรณะฤทธิ์ทวี ตัวแทนจากทีม Power of P ได้ให้เผยถึงแนวความคิดการออกแบบว่า เริ่มต้นจากตอนรับโจทย์เลยครับเราแยกกันตีความโจทย์แล้วมาสรุปร่วมกันว่าทางผู้จัดต้องการผลงานแนวไหนแล้วมีข้อกำหนดอะไรบ้าง งานต้องมีความมินิมอลและเป็นพัดลมสไลด์ที่ออกแบบให้เข้ากับทุกครัวเรือน เรากำหนด Pain Point มาได้ 3 ข้อหลักๆ เพื่อหาวิธีให้ผู้ใช้สะดวกมากขึ้น ทำความสะอาดง่าย ใช้ได้ในระยะยาว และต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้ ภายใต้ความเป็นไปได้ในการผลิตจริงครับ และทีมเราได้แบ่งงานกันทำตามความถนัดแต่ละคน โดยเรากำหนด concept ร่วมกันแล้วแยกกัน sketch หลังจากนั้นเอาจุดเด่นไอเดียของแต่ละคนมารวมกัน พอได้แบบที่พอใจแล้วเราก็แบ่งงานกันทำ โดยมีเปรมเป็นคนทำ 3D Render  , ธัญจิรา จะวิเคราะห์ข้อมูลและทำ Presentation และ พิชญ์พศิน เป็นคนทำ Prototype และตลอดการทำงานเราคุยกันและพัฒนาแบบร่วมกันตลอดครับ

เหตุผลอะไรกรรมการจึงสนใจงานเราและให้เราเป็นผู้ชนะเลิศ  ผมมองว่าความแตกต่างหลัก ๆ คือ งานของเราออกแบบโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิต ที่เราตั้งโจทย์ไว้แต่แรกว่าต้องผลิตได้จริง พัดลมเราเลยจะมีแต่ฟังก์ชั่นพื้นฐานที่ทุกคนได้ใช้ และไปมุ่งแก้ปัญหาที่ผู้ใช้เจอในพัดลมที่ใช้อยู่ครับ กับรูปทรงที่เราปรับหลายครั้งมากให้มีความมินิมอล ตอนนำเสนอเราจึงเน้นไปที่ข้อดีของเรา ให้กรรมการเห็นชัดเจนคือราคาต้นทุนไม่สูง ปรับที่รูปทรงภายนอกแต่ฟังก์ชั่นพื้นฐานครบ และให้ประสบการณ์ใหม่กับผู้ใช้ ผมคิดว่าตรงนี้อาจจะเป็นความแตกต่างและจุดเด่นที่ทำให้เราชนะครับ  และทีมของเราต้องขอขอบพระคุณ ผศ.ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ตั้งแต่การพัฒนาแบบแนะนำว่าจุดไหนเราควรไปคิดพัฒนาต่อ ให้เรารู้จุดเด่นของงานเราว่าแก้ Pain Point อะไรบ้าง และจะนำเสนออย่างไรให้คณะกรรมการเข้าใจได้ง่ายที่สุด และเห็นถึงจุดเด่นของงาน มีลำดับขั้นตอนในการนำเสนอให้เห็นภาพได้ชัดเจน ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ครับ

ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ภาพ : ผู้จัดงานประกวด “SHARP ELECTRIC FAN DESIGN COMPETITION 2023”  , School of Architecture, Art, and Design – KMITL และ พิชญ์พศิน บูรณะฤทธิ์ทวี

Scroll to Top