คณาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มข. ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกุหลาบ การจัดการระบบน้ำและขยายพันธุ์พืช เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพผลผลิต และชุมชนการท่องเที่ยงเชิงเกษตร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 คณาจารย์สาขาวิชาพืชสวน นำโดย รศ.ดร.ภาณุพล หงษ์ภักดี พร้อมด้วย นายสมยศ มีทา และนายเชาวลิต สีลาดเลา นักวิชาการเกษตร ลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกุหลาบตัดดอก การจัดการระบบน้ำและขยายพันธุ์พืช สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ทั่วไป (ไม้ดอก ไม้ประดับ) และเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบตัดดอกบ้านผาน้ำเที่ยง อ. สีชมพู จ. ขอนแก่น จำนวน 50 คน ตามการขอความอนุเคราะห์ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น

การดำเนินงานดังกล่าวเป็นแผนงานย่อย ภายใต้โครงการยกระดับผลผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน กิจกรรมหลัก พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ของกรมส่งเสริมการเกษตร

บ้านผาน้ำเที่ยง อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ด้านทิศเหนือ อ.สีชมพู มีรอยต่อติดกับ อ. ภูกระดึง จ.เลย ทำให้สภาพภูมิอากาศค่อนไปทางหนาวเย็น กอรปกับมีแนวภูเขาโอบล้อม อุณหภูมิเฉลี่ยช่วงฤดูหนาว 16-25 องศาเซลเซียส ในปี 2553 เกษตรกรบางรายจึงเริ่มมีการนำเอาต้นพันธุ์กุหลาบจากอ. ภูเรือ จ.เลย เข้ามาทดลองปลูก และได้รับการสนับสนุนและจัดหาพันธุ์จากสำนักงานเกษตรอำเภอสีชมพู พบว่าให้ผลผลิตดี สามารถตัดขายได้ในพื้นที่ และเริ่มส่งขายในตัวจังหวัดขอนแก่น ต่อมาจึงมีการขยายกลุ่มการผลิตไปยังเกษตรกรรายอื่น จนสามารถรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชุนได้ ใน ปี 2554 ด้วยจำนวนสมาชิก 15 ราย ด้วยคุณภาพผลผลิตและความเชื่อมั่น แบบบอกผ่านปากต่อปาก จนเป็นที่ประจักษ์ในคุณภาพแก่สายตาลูกค้า จึงเริ่มมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อดอกกุหลาบถึงแปลงเกษตรกรเพื่อนำไปส่งขายยังปากคลองตลาด ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกกุหลาบบ้านผาคำเที่ยง มีสมาชิกกลุ่มกว่า 40 ราย พื้นที่การผลิต 15 ไร่ ช่วงฤดูหนาว (ตุลาคม-กุมภาพันธ์) ซึ่งกุหลาบให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ดอกใหญ่ก้านแข็งแรง ราคารับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ดอกละ 10-15 บาท เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ทุก ๆ 3-4 วัน ในพื้นที่ประมาณ 3-4 ไร่ มีรายได้ประมาณสัปดาห์ละ 20,000-40,000 บาท หากแต่ช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับการขาดแหล่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูก กุหลาบจะให้ผลผลิตลดลง ดอกเล็ก ก้านสั้น ทำได้เพียงการพักแปลง หรือตัดดอกขายเป็นไม้ร้อยชายมาลัย ราคาดกละ 0.50-1.0 บาท

 

จากการดำเนินการโดยภาครัฐ ที่ต้องการผลักดันให้ อ.สีชมพู เป็นพื้นที่ศักยภาพเชิงท่องเที่ยว และวิสัยทัศน์ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด จึงเกิดการบูรณาจากทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ดังปรากฏให้เห็นถึงโครงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบบ้านผาน้ำเที่ยง 16 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานการผลิตของเกษตรกร ที่มีมาแต่เดิมจากการผลิตพืชไร่ (อ้อย เผือก มันสำปะหลัง) ซึ่งไม่ต้องการการดูแลรักษามากนัก และทำในพื้นที่ขนาดใหญ่ ปรับเปลี่ยนมาสู่พืชสวนเศรษฐกิจ มีการปลูกอย่างประณีต ต้องการเอาใจใส่ ใช้พื้นที่การผลิตน้อยและให้ผลตอบแทนสูง เกษตรกรโดยส่วนใหญ่จึงยังขาดความเข้าใจ ในพื้นฐานการผลิตพืชที่อาศัยการเขตกรรมแบบประณีต (intensive caring) ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการทางพืชสวน (horticultural practice technology) เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ จากการลงพื้นที่สำรวจ เกษตรกรในพื้นที่ยังต้องพึ่งพาการจัดซื้อต้นพันธุ์ดีจาก อ. ภูเรือ เข้ามาปลูก ไม่สามารถผลิตแปลงแม่พันธุ์และขยายพันธุ์ดีเพิ่มจำนวนได้ นอกจากนี้ ยังพบการจัดการที่ยังขาดลักษณะของเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพืช (Good Agricultural Practice: GAP) เช่น การจัดการสภาพพื้นที่ ดินและแหล่งน้ำ การคัดเลือกพันธุ์ การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา (ปุ๋ย น้ำ เทคนิคพิเศษเพื่อบังคับการออกดอก การจัดการวัชพืช)

การลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว ของคณาจารย์สาขาพืชสวน จึงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพผลผลิต ความกินดีอยู่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิต อันเป็นแนวทางในการเสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

ข่าว : รศ.ดร.ภาณุพล หงษ์ภักดี

Scroll to Top