ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาปี 4 สาขาสื่อดิจิทัล นานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศเวที NSC2022 การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24

โครงการ คันจิแสตมป์ : แอปพลิเคชันเกมมือถือสะสมแสตมป์รูปคันจิ เพื่อการเรียนรู้คันจิในภาษาญี่ปุ่น ผลงานของ นายศุภณัฐ เอการัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อดิจิทัล หลักสูตรนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมี ผศ.ดร. กรชวัล ชายผา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้ารางวัลชนะเลิศโปรแกรมเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ ระดับ นิสิต นักศึกษา ได้รับรางวัลพร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 หรือ NSC2022 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565
 นายศุภณัฐ เอการัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อดิจิทัล หลักสูตรนานาชาติ เผยว่า โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภท ส่งเสริมการเรียนรู้และการศึกษา เรื่อง “คันจิแสตมป์: แอปพลิเคชั่นเกมมือถือสะสมแสตมป์รูปคันจิ เพื่อการเรียนรู้คันจิในภาษาญี่ปุ่น (KANJI STAMP:THE MOBILE GAMEAPPLICATION TO LAERN KANJI) เป็นซอฟต์แวร์ที่มุ่งเน้นช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำตัวอักษรคันจิและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นที่มีต่อตัวอักษร คันจิ จากตัวอักษรที่มีจำนวนมาก และยากต่อการจดจำ ให้กลายเป็นตัวอักษรที่น่าสนใจและสนุกต่อการจำ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานกลับมาให้เรียนคันจิเป็นประจำ เพื่อให้การจดจำ คันจิมีประสิทธิภาพขึ้น โดยการสร้างระบบที่ดึงดูด ให้ผู้เรียนกลับมาใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้บ่อยๆ อาทิเช่น ระบบสะสมแสตมป์ ระบบพัฒนาแสตมป์ ระบบสุ่มรับ รางวัลจากคะแนนการเก็บสะสมแสตมป์ โดยในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โปรแกรมที่ใช้คือ Unity, Clip Studio Paint, Adobe Photoshop และใช้ภาษา C# ในการควบคุมโปรแกรม โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนจากโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 24 จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ดำเนินการ เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักเรียน นิสิตและนักศึกษาจากทั่วประเทศที่สนใจการพัฒนาซอฟต์แวร์ส่งโครงการที่พัฒนาด้วยตนเองเข้าร่วมการแข่งขัน โดย สวทช. ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานการแข่งขันในระดับภูมิภาค โดย สวทช. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งให้การสนับสนุนงบประมาณการแข่งขัน ส่วนหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมยกระดับผลงานให้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานจริง ทั้งในระดับชุมชน ภาคสังคม และเศรษฐกิจ สนับสนุนทุนพัฒนาต่อยอดผลงาน พร้อมจัดหาหน่วยงานสนับสนุนเพื่อร่วมเป็นที่ปรึกษาให้เยาวชนได้ผลิตผลงานจนสามารถใช้งานได้จริง

Scroll to Top