Vermi Team และ U2T กุดเค้า Telemedicine  จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทีมผู้ชนะเลิศจาก U2T Hackathon ระดับภูมิภาค เข้ารับโล่รางวัลชนะเลิศ

เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 15.30 -16.00 น. ทีม Vermi Team สังกัดคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ ทีม U2T กุดเค้า Telemedicine สังกัด สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันแฮกกาธอน (Hackathon) ระดับภูมิภาค ภายใต้ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T) เข้ารับโล่รางวัลชนะเลิศแข่งขันแฮกกาธอน ระดับภูมิภาค จากรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องอธิการบดี ชั้น 6 อาคารสิริคุณากร

สืบเนื่องจากนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่มุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ด้วยรูปแบบการจ้างงาน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชน 60,000 คน ให้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบลแบบพุ่งเป้า สำนักปลัดกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดโครงการ University to Tambon หรือ U2T ขึ้น จนมาถึงระยะที่ 4 ของแผนงาน ได้ถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ต่อยอดโครงการ และจัดเป็นการจัดการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon2021)เพื่อคัดเลือกสุดยอดระดับภูมิภาคเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2564 ณ ห้องประชุมสัมมนา อาคาร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ซึ่งทีม U2T กุดเค้า telemedicine สุขภาพอัจฉริยะ และ ทีม Vermi Team จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ  เป็นทีมสุดยอดระดับภูมิภาคเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนร่วมกับอีก 4 ทีม

เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับทีมทีม U2T กุดเค้า telemedicine สุขภาพอัจฉริยะ และ ทีม Vermi Team จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ ทีมสุดยอดระดับภูมิภาคเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดยศูนย์บริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจัดพิธีมอบโล่รางวัลชนะเลิศแข่งขัน แฮกกาธอนระดับภูมิภาคขึ้น

นางสาวภคมน ธนพันชาติ บัณฑิตคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย หัวหน้าทีม U2T TELEMEDICINE สุขภาพอัจฉริยะ

นางสาวภคมน ธนพันชาติ บัณฑิตคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย หัวหน้าทีม U2T TELEMEDICINE สุขภาพอัจฉริยะ เปิดเผยว่า การทำงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ประสานงานกันระหว่างนักศึกษา บัณฑิต อาจารย์ ชาวบ้าน และในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ไขโจทย์ชุมชนในพื้นที่ ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพชุมชน ในกลุ่มโรค NCD ประกอบด้วย โรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคมะเร็งลำไส้ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินทั้งสิ้น โดยได้ดำเนินโครงการแก้ไขโจทย์ชุมชนด้วยการนำนวัตกรรมเครื่อง TELEMEDICINE มาใช้คัดกรองโรค NCD ให้กับชาวบ้านในชุมชน และนวัตกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือในการพัฒนาตัวเครื่องจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์

“กระบวนการทำงานของ TELEMEDICINE จะใช้เพียงแค่บัตรประชาชน และวางนิ้วเข้าไปในตัวเครื่องก็สามารถรู้ผลได้ในทันที อีกทั้งตัวเครื่องยังสามารถคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ด้วยวิธีการเป่าได้อีกด้วย การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้แก้ไขปัญหาในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี และประสบผลสำเร็จในเรื่องของการคัดกรองโรคที่จะนำมาสู่การเข้าถึงบริการสุขภาพให้เกิดกับคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง”

นางสาวภคมน ธนพันชาติ กล่าวต่อไปว่า ทิศทางในอนาคตจะยังคงลงพื้นที่ตรวจในพื้นที่เดิมเพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และทีมก็มุ่งหวังที่จะต่อยอดโครงการไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ภายในตำบลกุดเค้า พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมของเครื่อง TELEMEDICINE ให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำในการคัดกรองโรค NCD มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากการพัฒนานวัตกรรมได้ผลลัพธ์ที่ดีเพิ่มขึ้น ก็อาจจะมีการขยายโครงการออกไปนอกพื้นที่ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ ไปจนถึงในระดับจังหวัดเป็นลำดับต่อ ๆ ไป

นางสาวสุภาวดี เรืองจันดา บัณฑิตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ VERMI TEAM ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน

นางสาวสุภาวดี เรืองจันดา บัณฑิตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ VERMI TEAM ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน เปิดเผยว่า ทีมของตนเองมีการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ปัญหาชุมชนในตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับเกษตรกรในชุมชนเพื่อสอบถามปัญหาหลักที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ เมื่อศึกษาพื้นที่แล้วพบว่าภายในชุมชนมีทรัพยากรและอาชีพพร้อมที่จะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดได้ เพราะภายในชุมชนมีการเลี้ยงกระบือรวมแล้วราว ๆ 4000 ตัว

“ชาวบ้านจะนำมูลกระบือที่เก็บได้เฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 40,0000 กิโลกรัม ไปจำหน่ายเพื่อเป็นปุ๋ยในราคากิโลกรัมละ  1 บาท ซึ่งถือว่าได้มูลค่าน้อยมาก และ ยังขายได้บางช่วงเวลาเท่านั้น ทางทีมจึงนำเอา VERMI TECHNOLOGY นวัตกรรมการทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนไปช่วยพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำมูลกระบือมาใช้เลี้ยงไส้เดือน และนำปุ๋ยที่ได้จากการหมักมูลไส้เดือนไปขายในราคา 35 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 35 เท่า เพราะปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนมีคุณค่าของแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงมาก นอกจากนำเอานวัตกรรมเข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าของปุ๋ยแล้ว ทางทีมยังได้ช่วยรับซื้อ ตรวจหาคุณภาพ และหาตลาดในการจำหน่ายปุ๋ยให้กับชุมชน ทำให้ชาวบ้านภายในพื้นที่ที่เป็นเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพในชุมชนให้กับผู้ว่างงานซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุและผู้เกษียณอายุราชการ รวมไปถึงเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยด้วยการส่งเสริมให้มีการนำปุ๋ยที่ผลิตได้เองในชุมชนไปใช้ในการปลูก”

นางสาวสุภาวดี กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มในอนาคตหลังจากโครงการประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลจากการแข่งขัน Hackathon ทางทีมในมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ด้วยการเพิ่มกลีบบัวหลวงไปเป็นอาหารของไส้เดือนเพื่อให้ปุ๋ยมีธาตุอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับพืชมากยิ่งขึ้น และจะพัฒนาการออกแบบ Packaging รวมทั้งเปลี่ยนรูปแบบของปุ๋ยจากร่วนซุยเป็นอัดเม็ดเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและสามารถสร้างฐานการตลาดให้เหมาะกับกลุ่มคนทั่วไปที่ต้องการปุ๋ยในรูปลักษณะที่น่ารักและใช้งานง่าย เนื่องด้วยฐานการตลาดของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจะอยู่ในกลุ่มคนรักต้นไม้ และกลุ่มคนเมืองที่มีกำลังซื้อ การสร้างฐานตลาดออนไลน์ให้มีทางเลือกที่เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น จะช่วยให้ชาวบ้านที่ผลิตปุ๋ยมีฐานลูกค้าที่หลากหลายเพิ่มตามไปด้วย

เรียบเรียง/สัมภาษณ์ : นางสาวยุธิดา โฉสูงเนิน  นักศึกษาฝึกฝนประสบการณ์ทำงาน สาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สามารถอ่านรายละเอียดข่าวที่ เกี่ยวข้องได้ที่ https://th.kku.ac.th/70665/

 

 

Scroll to Top