ม.ขอนแก่น จัดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง “หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัยของสถาบันอุดมศึกษา” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

วันนี้ ( 17 กันยายน 2564 ) เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายกิจการพิเศษ และกองกฎหมาย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง “หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัยของสถาบันอุดมศึกษา”  โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน และ นางณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวรายงานโครงการฯ  ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านประนัย วณิชชานนท์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด บรรยายในหัวข้อเรื่อง “หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัยของสถาบันอุดมศึกษา”  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 240 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (KKU Zoom Video Conferencing) และ ห้องประชุมสารสิน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  โครงการอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจใน เรื่อง “หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัยของสถาบันอุดมศึกษา” ซึ่งในกระบวนการดำเนินการทางวินัย ถือเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของการบริหารงานบุคคลที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจจักต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน และได้กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินการไว้ตามกฎหมาย สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการกำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินการไว้ตามระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น  ทั้งนี้ ผลของการดำเนินการทางวินัยที่เป็นการลงโทษย่อมจะส่งผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่และสวัสดิการต่าง ๆ ของบุคคลผู้กระทำผิดนั้นด้วย ประกอบกับการดำเนินการทางวินัย    มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การลงโทษผู้กระทำผิดเป็นไปด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม และเหมาะสมกับ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้ง คำสั่งลงโทษทางวินัยถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ฉะนั้น กระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการ ตลอดรวมถึงการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัย จึงต้องเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายด้วย

“ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงตระหนักและเล็งเห็นว่า หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัย เป็นเรื่องที่ทุกท่านที่ดำรงตำแหน่งในฐานะเป็นผู้บริหารก็ดี หรือเป็นผู้บังคับบัญชาของส่วนงานก็ดี หรือแม้แต่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการทางวินัยก็ดี จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว หากมีกรณีที่เกิดการร้องเรียนกล่าวหาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านว่ากระทำผิดวินัย หรือมีความปรากฏต่อท่านว่า ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย เพื่อทุกท่านจักได้นำเอาความรู้และความเข้าใจนี้ไปปฏิบัติให้ถูกต้อง เป็นธรรม และเหมาะสม อันจะเป็นการเสริมสร้างการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการรักษาวินัยให้แก่ทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย”  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าว 

 

                  อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวรายงานโครงการฯ ว่า   การจัดโครงการอบรมในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 10 การบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ในกลยุทธ์ที่ 1 การวางระบบการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ให้เกิดทั่วทั้งมหาวิทยาลัย (Good Governance for all Units) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทุกท่านได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักกฎหมาย และกระบวนการดำเนินการทางวินัย  เสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการรักษาวินัย และป้องกันการกระทำผิดวินัยแก่ผู้ปฏิบัติงาน   เพื่อนำไปสู่การบริหารงานของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่กำหนด ให้สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหาร ของมหาวิทยาลัย  กลุ่มผู้บังคับบัญชา ของคณะหรือส่วนงาน  กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ของคณะและหน่วยงาน  กลุ่มนิติกรที่สังกัด ในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดขบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และการทบทวนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ของทุกส่วนงาน ทั้ง ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนงาน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จะได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับหลักกฎหมาย และกระบวนการดำเนินการทางวินัย พร้อมที่จะนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยต่อไป

       

                 ท่านประนัย วณิชชานนท์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด บรรยายในหัวข้อเรื่อง “หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัยของสถาบันอุดมศึกษา”  กล่าวว่า  การเข้ารับฟังอบรม เรื่องวินัย จะทำให้ทุกท่านมีความรู้แตกฉาน สามารถปฏิบัติกับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างถูกต้อง  ภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ กฎกติกาที่ถูกต้อง  ผู้บริหารจำเป็นต้องได้เรียนรู้ เพราะหากปล่อยให้คดีขาดอายุความ ท่านอาจจะได้รับโทษแทน ซึ่งมีกรณีในศาลปกครองจำนวนมาก  ปัญหาคือ ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล เป็นกรณีศึกษาที่ควรค่าแก่การเรียนรู้   หากมีบรรยายที่ไหนเกี่ยวหลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัย ท่านก็สามารถเข้าร่วมอบรมได้ บ่อยครั้งมากขึ้นยิ่งเป็นผลดีแก่ตัวท่าน เพราะฉะนั้นต้องติดตาม หากไม่ติดตาม และวินิจฉัยแบบเดิม ๆ ปัญหาอาจตกที่ตัวท่านได้

“ ยกตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาหากมีบุคคลขณะรับราชการอยู่ มีการกระทำความผิดทางวินัย เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ เบิกจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่าย  ยังไม่มีใครรู้ว่าทุจริต  ต่อมา บุคคลนั้นได้ออกจากราชการ พอออกจากราชการแล้ว กลับมารู้ในภายหลัง แต่เดิมนั้น ไม่สามารถดำเนินทางวินัยต่อเขาได้อีก เพราะพ้นสภาพการเป็นข้าราชการแล้ว  ปัจจุบันมีการปรับหลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัยเมื่อปีพุทธศักราช  2562 ความว่า  ภายหลังที่ข้าราชการผู้นั้นได้ออกราชการไปแล้วได้มีการถูกฟ้องคดีอาญาทำผิดวินัยร้ายแรง  ผู้มีอำนาจสามารถดำเนินความผิดทางวินัยเขาได้ เสมือนว่ายังไม่ออกจากราชการ ตรงนี้นับเป็นข้อมูลที่ต้องเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เป็นผลดีทั้งต่อตัวท่าน และส่วนรวม”   ตุลาการศาลปกครองสูงสุด  กล่าว

สำหรับโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง “หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการทางวินัยของสถาบันอุดมศึกษา” จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 17 และ 20 กันยายน 2564  ผู้เข้าอบรม เข้าสู่ระบบ KKU Zoom Video Conferencing   ในวันที่ 20 กันยายน 2564 บรรยายในหัวข้อเรื่อง “แนวปฏิบัติในการดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง” โดย นางละอองดาว  สมดีวีรเดช รักษาการแทนผู้อำนวยการกองกฎหมาย ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีข้อสอบ Post Test พร้อมแบบประเมินความพึงพอใจโครงการอีกด้วย

KKU holds an online workshop on “Law and Process for Governing Disciplines in the University”

https://www.kku.ac.th/11942

ข่าว / ภาพ   : กองสื่อสารองค์กร

Scroll to Top