มข. เปิดบ้านสัมมนา “Khon Kaen Smart Living Lab” พัฒนานวัตกรรมสุขภาพและการแพทย์ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ Khon Kaen Smart City

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน “สัมมนาระดมสมองเพื่อสร้างรูปแบบการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะด้านสุขภาพและการแพทย์ พื้นที่จังหวัดขอนแก่นตามความร่วมมือ (MOU) Khon Kaen Smart Living Lab” ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศ (Khon Kaen Smart City) โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ หัวหน้าโครงการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์กรภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 100 คน และพิธีรับมอบนวัตกรรมดิจิทัลทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ณ ห้องวิทยวิภาส 1 ตึกวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การจัดงานสัมมนาระดมสมองเพื่อสร้างรูปแบบการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะด้านสุขภาพและการแพทย์ พื้นที่จังหวัดขอนแก่นตามความร่วมมือ (MOU) Khon Kaen Smart Living Lab ปี 2562 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องในเชิงนโยบาย โดยจากการระดมความเห็นของทุกภาคส่วนและความคืบหน้าของกิจกรรมและโครงการเพื่อมุ่งสู่ความเป็นอัจฉริยะ เครือข่ายทางด้านสุขภาพภายในจังหวัดได้มีกิจกรรมร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จำนวน 12 หน่วยงาน ว่าด้วยการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ภายใต้ชื่อโครงการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อบริการด้านการสุขภาพและการแพทย์ ขอนแก่นโมเดล ” SMART LIVING LAB” (SMART HEALTH & MEDICAL HUB) เมื่อวันที่ 6 – 8 กรกฎาคม 2561 ในงาน DIGITAL THAILAND BIG BANG REGIONAL 2018 เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่นให้เป็นสถานที่ทดสอบและส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพ ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์จะทำให้ระบบการจัดการต่าง ๆ มีความสะดวก รวดเร็วและสามารถเข้าถึงประชาชนได้ในทุกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการนำส่งเสริมและพัฒนาที่ส่งผลดีต่อประเทศเป็นอย่างมาก

          ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า นวัตกรรมทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีหรือ Smart Living Lab นั้นได้มีการพัฒนาจนและได้รับรางวัลจนกลายเป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งจะสามารถทำให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้มีการวางแผนและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน  ในปี 2561 Smart Living Lab ได้พิสูจน์ตัวเองจากการได้รับรางวัล SAGARPA จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการประเมินในเรื่องของ Smart City โดยเฉพาะ ซึ่งในปีนี้เราคาดหวังว่าเราจะทำให้การพัฒนานวัตกรรมนี้เดินหน้าอย่างเต็มที่และนี่คือส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับเมืองที่ประชาชนมีการตื่นตัว มุ่งมั่นและตั้งใจในการที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองที่ทันสมัย โดยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่อง เทคโนโลยี สาธารณูปโภค สาธารณสุขต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ก็จะเป็นเครื่องชี้วัดความล้ำหน้าทางความคิดของผู้ที่ทำงานด้านหลักวิชาการควบคู่กับบริบทของบ้านเราที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ที่เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนที่ช่วยให้โครงการได้มีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลสำรวจ  ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ และเป็นโครงการที่จะต้องมีการดูแลอย่างยั่งยืนต่อไป”   

          รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวกล่าวให้นโนบาย “งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนา Khon Kaen Smart Health and Medical Hub” ว่า Khon Kaen Smart Living Lab เป็นองค์กรกลางที่เรียกได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมร่วม ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเน้นนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีฉลาดในรูปแบบที่พอเหม บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือ การนำนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพที่กำลังดำเนินการหรือที่แล้วเสร็จมาใช้เป็นตัวตั้ง ในการสร้างนโยบายเพื่อการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมไปถึงการถูกบรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างบูรณาการ

“การนำนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีมาทำแพลตฟอร์มในเรื่อง Smart Health and Medical Hub เพื่อจัดการระบบทางการแพทย์และสุขภาพจะทำให้มีความสะดวก รวดเร็ว เกิดความถูกต้อง แม่นยำในการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการกรอกประวัติใหม่หรือรอคิวในการตรวจที่ใช้เวลานาน นอกจากนี้ยังได้นำตัวระบบมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่จะทำให้การรักษากระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพราะการที่จะทำให้ประชาชนมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพและพร้อมสำหรับการทำงานจะต้องมีสุขภาพดีมาก่อน ซึ่งระบบตัวนี้จะช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลทางด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนที่ได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา” รศ.นพ. ชาญชัย กล่าวในที่สุด

ด้าน  นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า “ผมมองเห็นความโชคดีของจังหวัดขอนแก่นที่น้อยเมืองนักจะเหมือนเรา  เพราะเรามีเครือข่ายทางด้านสาธารสุขที่เข้มแข็งและมีเครือข่ายทางด้านเทคโนโลยีสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งทั้งสองเครือข่ายนี้เมื่อมารวมตัวกันภายใต้ความเห็นชอบและสนับสนุนจากภาคประชาชนก็เกิดเป็นนวัตกรรมที่สุดยอดในเรื่องสุขภาพและการแพทย์         แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ การที่เราได้เรียนรู้และเติบโตที่จะพัฒนานวัตกรรมให้มีความก้าวหน้าและจะต้องไม่ละเลยความต้องการพื้นฐานในด้านสุขภาพ เริ่มตั้งแต่การดูแลตนเอง การป้องกัน การมีเครือข่ายที่ดี การสร้างความเข้มแข็งจากภาคประชาชน ที่จะทำให้เราไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ก็มั่นใจว่ากระบวนการพัฒนา การคัดกรอง การติดตามและประเมินผล เป็นกระบวนการที่มีความสมบูรณ์ โดยจังหวัดขอนแก่นจะเดินหน้าต่อไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในอนาคตต่อไป”  

รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์

          รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ หัวหน้าโครงการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “Living Lab จริง ๆ แล้วแปลเป็นไทยจะหมายถึง ห้องปฏิบัติการชีวิต ซึ่งถ้าเราเอาห้องปฏิบัติการไปไว้ในชุมชน คือการนำเอานวัตกรรมลงไปใช้ในพื้นที่จริงจะทำให้เราได้เห็นผลสัมฤทธิ์ของนวัตกรรมตัวนั้นได้เป็นอย่างดี แต่ถ้ามองภาพในบริบทโลกโดยหลักการของการเกิดห้องปฏิบัติการชีวิต ที่นำไปใช้งานจริงในชุมชนเพื่อให้ผู้ใช้งานได้สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในด้านของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้จะมีในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานวิชาการที่ถือนโยบายและสุดท้ายภาคประชาชน เราได้จึงมีการพูดคุยเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมตัวนี้ขึ้นมา ที่จะมุ่งในเรื่องของสุขภาพและอนามัย คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยบทบาทที่สำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือการทำให้เกิดภาพของความยั่งยืนในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ”

จากนั้น  ดร.สมศักดิ์  จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้มอบการ์ด Long Team Care Digital Innovation ผลงานวิจัยรูปแบบเทคโนโลยีฉลาดและระบบนิเวศชุมชนครบวงจร งบบูรณาการ 2562 มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ให้กับ  นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธุ์  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์  และผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น

และมีพิธีมอบสายรัดข้อมือเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ A-Live จำนวน 500 เรือน โดย ดร.สมศักดิ์  จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  นายพรชัย  หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานกิจการสาขา) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  และนายกิจกมน  ไมตรี ประธานกรรมการ บริษัท Tely 360 จำกัด  มอบให้กับ นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธุ์  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น  นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น  และ นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ผู้บริหารกิจการส่งเสริมสุขภาพ M-Society  ลำดับสุดท้าย  ดร.สมศักดิ์  จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้มอบ สายรัดข้อมือเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ Zensorium จำนวน 300 เรือน  ให้กับ ดร.วิศิษฐ ทวีปรังษีพร , Managing Director, Zensorium  และ ผศ.ดร.พิพัธน์ เรืองแสง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในภาคบ่าย  ณ ห้องประชุมสีฐาน  สำนักงานผู้อำนวยการ ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการระดมสมองเพื่อหาแนวทางสร้างงานวิจัยโดยการสร้างสรรค์ร่วมกับภาคเอกชน โดยการถอดบทเรียนจากโครงการเดิม จาก โครงการมณี โดย หัวหน้าโครงการ รศ.นพ. ชลธิป พงศ์สกุล ทุนสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2560-2562) และ  โครงการ MineMind แพลทฟอร์มติดตามสัญญาณด้านกายภาพและชีวภาพเพื่อติดตามผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดย หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร. สุมณฑา เกษมวิลาศ  ทุนสนับสนุนโดย ฝ่ายอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2562-2564)  พร้อมกับ เรียนรู้โครงการใหม่ ในเรื่อง การใช้สายรัดข้อมืออัจฉริยะ Self by Zensoriumจาก บริษัท เซนโซเรี่ยม (ประเทศไทย) จำกัดเพื่อติดตามสภาวะสุขภาพของผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดย รศ.ดร พัชรี  เจียรนัยกูร คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์  เรื่อง Khon Kaen Smart Living Lab Platform กับ สายรัดข้อมืออัจฉริยะ Self by Zensorium และ เครื่องตรวจวัดไมโครอัลบูมินแบบพกพา จากบริษัท เซนโซเรี่ยม (ประเทศไทย) จำกัด โดย ทีมแพทย์โรคไตเรื้อรัง  และเรื่อง Khon Kaen Smart Living Lab Platform กับ สายรัดข้อมืออัจฉริยะ Self by Zensorium จาก บริษัท เซนโซเรี่ยม (ประเทศไทย) จำกัด  โดย ทีมแพทย์โรคความดันโลหิตสูง  ดำเนินการประชุมโดย รศ. ดร. รินา ภัทรมานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ทั้งนี้การพัฒนา Smart City ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ 4.0  ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ใน 7 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจังหวัดขอนแก่นได้รับรางวัลชนะเลิศ IDC SMART CITY ASIA PACIFIC AWARDS และได้รับรางวัลในประเภท PUBLIC HEALTH AND SOCIAL SERVICES 2018 โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจาก 12 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช เขต7)โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น สมาคมเฮลท์เทคประเทศไทย สมาคมการค้าชอฟต์แวร์ธุรกิจนวัตกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมขอนแก่นเมกเกอร์คลับ และในปีนี้ได้มีการส่งโครงการ Khon Kaen Smart Living Lab (KKLL) เข้าร่วมประกวดรางวัล United Nations Public Service Awards 2020 ที่ใกล้จะถึงนี้

ข่าว   :   วนิดา  บานเย็น
ภาพ/เรียบเรียง   :   วัชรา   น้อยชมภู

Scroll to Top