คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “เทคนิคการผสมพันธุ์โคกระบือ โภชนาการอาหารและการผลิตหัวอาหารสัตว์” ณ ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการ U2T เพื่อลดต้นทุนและช่วยเพิ่มองค์ความรู้การเลี้ยงโค

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “เทคนิคการผสมพันธุ์โคกระบือ โภชนาการอาหารและการผลิตหัวอาหารสัตว์” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลกุดเพียขอม (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ณ พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.กิริยา สังข์ทองวิเศษ หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ทั้งนี้ การฝึกอบรมได้บรรยายเรื่อง 1) เทคโนโลยีกายวิภาคและสรีระวิทยาระบบสืบพันธุ์เพศเมีย 2) ค่าทางสรีระหรือตัวชี้วัดประสิทธิภาพการผสมเทียม 3) เทคโนโลยีชีวภาพทางการสืบพันธุ์ในโค และ 4) โภชนาการอาหารและการผลิตหัวอาหารสัตว์ โดย ผศ.ดร.สมจิตร์ กันธาพรม สังกัดสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้เกียรติเป็นวิทยากร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารและการผลิตหัวอาหารสัตว์ เพิ่มทักษะการผสมพันธุ์โคกระบือ และช่วยลดต้นทุนในการขยายพันธุ์โคกระบือ

โครงการฝึกอบรมเรื่อง “เทคนิคการผสมพันธุ์โคกระบือ โภชนาการอาหารและการผลิตหัวอาหารสัตว์”  เกิดขึ้นเนื่องจากผลการสำรวจของคณะทำงาน พบว่า พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นตำบลเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การทำหัตถกรรมผ้าไหม การประมงน้ำน้อย และการเลี้ยงโค ลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและมีจำนวนแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวได้เพียงในช่วงฤดูฝน และไม่สามารถปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เกษตรกรจึงเลี้ยงโคเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่ประสบปัญหาการผสมโคไม่ติด ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนครั้งในการผสมพันธุ์โคและส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

โครงการฝึกอบรมนี้ ดำเนินการ ณ ศาลากลางบ้านกุดเพียขอมเหนือ หมู่ 2 ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม กำนันตำบลกุดเพียขอม และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ทำมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 7 หมู่บ้าน จำนวน 70 คน แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังขาดทักษะและเทคนิคการฉีดยาชนิดต่างๆ เช่น การฉีดฮอร์โมนบำรุงมดลูกและรังไข่ การฉีดยาฆ่าเชื้อ การฉีดยาขับเลือดในกรณีที่ครรภ์เป็นพิษ และการฉีดฮอร์โมนบำรุงตัวอ่อน ให้กับโคกระบือ

ในการดำเนินการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ คณะทำงานได้จัดทีมงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ติดตามปริมาณการเลี้ยง เปอร์เซ็นต์การผสมพันธุ์ติดของโค ต้นทุนจากการผสมพันธุ์โค รายได้ ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบในระหว่างการเพาะเลี้ยงโค เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาการเลี้ยงและการดูแลโค ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ U2T ได้ในลำดับต่อไป

  

Scroll to Top