มข. พัฒนาทักษะบุคลากร คณาจารย์ สนับสนุนให้พร้อมขอตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น 

เมื่อวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2564  ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และกองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ร่วมมือจัดโครงการฝึกอบรมการขับเคลื่อนและพัฒนาทักษะบุคลากรสายวิชาการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์  รองศาสตราจารย์  และศาสตราจารย์ และโครงการพัฒนานักวิจัยใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสนับสนุนให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ ทุกระดับ มีความพร้อมในการขอตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น  โดยมี รศ.ดร.เกรียงไกร  กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล  ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรม และ ผศ.ดร.จงรักษ์ หงษ์งาม ประธานโครงการฯ  เป็นผู้กล่าวรายงาน  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมได้แก่  บุคลากรสายผู้สอนที่มีตำแหน่งอาจารย์,ผู้ช่วยศาสตราจารย์,รองศาสตราจารย์ สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 150 คน  และกลุ่มนักวิจัยหน้าใหม่ โครงการนักวิจัยใหม่ จำนวน 45 คน  โดยเป็นการอบรมทั้งในรูปแบบการอบรมออนไลน์และอบรม  ณ  ห้องประชุม 301 อาคารเรียนรวมและพัฒนาทักษะพื้นฐาน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ผศ.ดร.จงรักษ์ หงษ์งาม
ผศ.ดร.จงรักษ์ หงษ์งาม ประธานโครงการฯ

……….ผศ.ดร.จงรักษ์ หงษ์งาม  ประธานโครงการฯ  กล่าวว่า  “มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพันธกิจในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในลำดับต้น ๆ ของประเทศและของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งคือ บุคลากรประเภทวิชาการ   การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถในเชิงวิชาการของคณาจารย์ให้สูงขึ้น เป็นส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก” ถ่ายทอดลงสู่การกำหนด OKRs ในด้านการเพิ่มจำนวนผู้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของสายวิชาการให้อยู่ในตัวเลขที่ร้อยละ 62 ของปี 2564  การสนับสนุนและขับเคลื่อนให้คณาจารย์ทุกระดับ ให้มีตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น  จึงเป็นภารกิจที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก  จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เรื่อยมารวม 10 รุ่นใน 6 ปี และที่ต่อยอดจากรุ่นที่ผ่านมาคือ ในปีนี้ ได้บูรณาการการทำงานจาก 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ทำให้ขยายกลุ่มเป้าหมายจากอาจารย์ที่สนใจทั่วไป รวมไปถึงนักจัยใหม่ประจำปี 2563 โดยเป้าประสงค์ของโครงการให้ครบวงจรทั้งประเมินสอน หนังสือ/ตำรา และวิจัย”

……….“วัตถุประสงค์ของโครงการหลักๆ เพื่อให้คณาจารย์ได้ทราบข้อมูลและขั้นตอน ในการวางแผนงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และครบวงจร  ทราบแนวทางการผลิตเอกสารสำหรับประเมินการสอน ตำรา/หนังสือ งานวิจัยและงานวิชาการอื่น ๆ ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์และสอดคล้องกับระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศเกี่ยวกับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ  ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเขียนเอกสารสำหรับประเมินการสอน การผลิตตำรา/ หนังสือ บทความวิจัย เพื่อขอตำแหน่งวิชาการ และการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ  เป็นการเตรียมความพร้อมให้คณาจารย์กลุ่มนักวิจัย โครงการนักวิจัยหน้าใหม่ ประจำปี 2563 และนักวิจัยหน้าเก่าสามารถวางแผนงาน มีทิศทางในการทำวิจัย ผลิตผลงานตีพิมพ์ที่สะท้อนความเชี่ยวชาญของตนในขณะที่นัก วิจัยหน้าใหม่สามารถผลิตบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ”

……….“ในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นกว่า 166 คน แยกเป็นตำแหน่งอาจารย์ 82 คน ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ 61 คน ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ 23 คน และเป็นกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย 153 คน ข้าราชการ 7 คน ลูกจ้าง 3 คน และพนักงานหน่วยงานในกำกับ 3 คน”  ผศ.ดร.จงรักษ์ หงษ์งาม  กล่าวในที่สุด

……….โครงการอบรมในครั้งนี้ส่งผลให้คณาจารย์ได้ทราบข้อมูลและขั้นตอนเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น อย่างถูกต้อง ชัดเจน และครบวงจร  ทราบแนวทางการผลิตเอกสารสำหรับประเมินการสอน ตำรา/หนังสือ งานวิจัยและงานวิชาการ   อื่น ๆ ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์และสอดคล้องกับระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศเกี่ยวกับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์/รองศาสตราจารย์/ศาสตราจารย์  มีความพร้อมสามารถวางแผนงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ได้  เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเขียนเอกสารสำหรับประเมินการสอน การผลิตตำรา/ หนังสือ เพื่อขอตำแหน่งวิชาการ และการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ   เกิดการติดตามการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะในการเตรียมการเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ  คณาจารย์กลุ่มนักวิจัยหน้าใหม่และนักวิจัยหน้าเก่ามีความพร้อมและสามารถวางแผนงาน ตลอดจนเตรียมผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้  ส่วนนักวิจัยหน้าเก่ามีทิศทางในการทำวิจัย ผลิตผลงานตีพิมพ์ที่สะท้อนความเชี่ยวชาญของตน ในขณะที่นักวิจัยหน้าใหม่สามารถผลิตบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ  :   พงษ์พันธ์  คำสิงห์

Scroll to Top