คมนาคมแจงแผนใช้ยางพารา’แบริเออร์-หลักนำทาง’เฟสแรก ช้ากว่ากำหนด 2 เดือน

สำนักข่าว: ไทยโพสต์
URL: https://www.thaipost.net/main/detail/85590
วันที่เผยแพร่: 1 ธ.ค. 2563

1 ธ.ค.63-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำยางพารามาใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้กำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) มาใช้บนถนน ทล. และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงิน 2,770 ล้านบาท เมื่อช่วง ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ผนวกกับงบปรับแผนฯ และงบประจำปี 2563 วงเงิน 1,650 ล้านบาท รวมประมาณ 4,421 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการในระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.พ. 2564 ล่าช้ากว่าแผน 2 เดือน หรือจากเดิมจะแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2563

ทั้งนี้ การดำเนินการระยะที่ 1 นั้น ในส่วนของ ทล. ได้ดำเนินการแล้วประมาณ 50% ล่าช้ากว่าแผน 20% ขณะที่ ทช. ล่าช้ากว่าแผน 13% แบ่งเป็น ดำเนินการกำแพงคอนกรีตหุ้ม RFB ของ ทล. ระยะทาง 238.71 กิโลเมตร (กม.) และ ทช. ดำเนินการ 105.54 กม. รวมระยะทาง 344.25 กม. ส่วนการติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาตินั้น  ทล. ได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 89,635 ต้น และ ทช. ดำเนินการแล้วจำนวน 200,714 ต้น รวมดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 290,349 ต้น ขณะเดียวกัน ในเบื้องต้นอาจจะต้องมีการปรับแผนการสร้างแบริเออร์ รวมถึงพิจารณาให้ผู้รับจ้างเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการ โดย ทล. และ ทช. จะต้องมาเปรียบเทียบความเหมาะสม ในส่วนของราคาน้ำยางพารา ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 70 บาทต่อกิโลกรัม จากเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ราคายางอยู่ที่ 43 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับสาเหตุที่เกิดความล่าช้านั้น สืบเนื่องจาก ทล. และ ทช. จะต้องใช้หน่วยงานดำเนินการเอง รวมถึงต้องเรียนรู้กระบวนการ และพบปัญหาต่างๆ เช่น การเตรียมวัสดุการใช้แบบเหล็กเสริม Single Slope Barrier ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่, ปัญหาประชาชน 2 ข้างทางมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องของการวางแบริเออร์, ข้อจำกัดทางด้านแรงงาน ฯลฯ แต่ในขณะนี้ เริ่มแก้ปัญหาได้แล้ว ขณะเดียวกัน ยังติดเรื่องของการแก้กฎกระทรวงฯ เพื่อจัดซื้อยางพาราตรงจากเกษตรกร ซึ่งอยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ เป็นพัสดุในบัญชีที่การจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง คาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติไม่เกิน ธ.ค. 2563 ก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทล. และ ทช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อประเมินผลดำเนินโครงการดังกล่าว ได้แก่ พื้นที่จังหวัดภาคอีสาน จะประเมินโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่ภาคเหนือ จะประเมินโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พื้นที่ภาคใต้ จะประเมินโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก และพื้นที่ภาคกลางนั้น จะประเมินโดยมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อรวบรวมสถิติด้านความปลอดภัย และยกระดับราคายางพาราให้เป็นไปตามสมมติฐานโครงการที่ต้องการลดความรุนจากอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยทางถนน อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเสนอผลการประเมินการดำเนินการระยะที่ 1 ให้ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม. พิจารณาในช่วง ก.พ. 2564 ก่อนที่จะนำเสนอขอรับสนับสนุนงบกลางจาก ครม. เพื่อดำเนินการในระยะที่ 2 ต่อไป

Scroll to Top