ม.ขอนแก่นตัดช่อดอกกัญชาปฐมฤกษ์ หลังทำโครงการวิจัยกัญชาทดลองปลูกชุดแรก 35 ต้น

สำนักข่าว: สยามรัฐ
URL:  https://siamrath.co.th/n/194856
วันที่เผยแพร่: 4 พ.ย. 2563

วันที่ 4 พ.ย.2563 ที่ หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ มหา่วิทยาลัยขอนแก่นหรือ มข. ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. พร้อมด้วย นายวรทัศน์ ธุรีจันทร์ รอง ผวจ.ขอนแก่น และศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดี มข.ร่วม เก็บผลผลิตและตัดช่อดอกกัญชา ที่ มข.ได้ทำการทดลองปลูกที่แปลงกัญชาระบบปิด ที่ขณะนี้สามารถนำไปทำการทดสอบทางการแพทย์ได้แล้ว

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดี มข. กล่าวว่า ดอกกัญชาที่ครบกำหนดตัดในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับอนุญาตในการผลิตและปลูกในชุดแรก ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่แรกที่ได้รับอนุญาติให้ปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัย จำนวนพื้นที่ในการปลูก 20 ตารางเมตร โดยได้ปลุกมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมาและครบกำหนดตัดช่อดอกในวันนี้ ซึ่งคณะทำงานจะทำการเก็บไปเพื่อประเมินสานพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำไปใช้ทางการแพทย์ต่อไป

“ชุดนี้เป็นชุดแรก มีทั้งหมด 35 ต้น ในพื้นที่ 10 ตารางเมตร ในหนึ่งปีจะปลูกได้ทั้งหมด 3 ชุด ประมาณ 100 ต้น ล่าสุดได้รับอนุญาตในการปลูกชุดที่ 2 แล้ว จะเป็นการปลูกในระบบโรงเรือนพลาสติก ในพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งการดำเนินการปลูกที่ผ่านมา มข. ได้คะแนนการปลูก 100 เต็ม 100 เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยโรงเรือนที่จะมีการขยายการปลูก แต่ละชุดจะสามารถปลูกได้ประมาณ 500-700 ต้น 1ปี ปลูกได้ 3 ชุด รวมแล้วประมาณเกือบ 2,000 ต้น ซึ่งถือว่าเป็นการผลิตช่อดอกกัญชาที่สมบูรณ์ที่สุดที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและรองรับคนที่จะมาใช้ประโยชน์ได้”

ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวต่ออีกว่า ช่อดอกกัญชาที่ตัดได้ในคราวนี้ จะส่งต่อไปที่ส่วนที่เรียกว่ามีการสกัดสารซึ่งได้รับการอนุญาตจาก อย.ให้เป็นพื้นที่ในการสกัดสาร โดยสารสำคัญที่เราต้องการมี 2 ชนิดคือสาร CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์และสาร TSC (สารเมา) ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งคู่ เนื่องจากสายพันธุ์ที่ได้มีการตัดในครั้งนี้ จะมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ จะมีการเปรียบเทียบว่า เมื่อปลูกอยู่ในระบบปิด ด้วยการควบคุมอุณหภูมิ ,ควบคุมแสงจะได้ปริมาณสารเป็นอย่างไร จากนั้นเมื่อสกัดสารได้แล้ว จะส่งต่อไปที่ เภสัชศาสตร์เพื่อพัฒนารูปแบบการทำเป็นยารักษา เพราะปัจจุบันจะเป็นการนำมาใช้ในรูปแบบของแพทย์แผนไทยในลักษณะการหยดไต้ลิ้นอย่างเดียว ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่แน่ชัดในเรื่องปริมาณของสารสำคัญ คณะเภสัชศาสตร์ก็จะมีการพัฒนาว่าจะเป็นระบบหยุดไต้ลิ้นก็ต้องรู้ว่าหากเป็นระบบหยดไต้ลิ้นก็ต้องรู้ว่า มีสารเมาเท่าไหร่ ด้วยสัดส่วน1ต่อ1 หรือ 2 ต่อ1 เพื่อให้ทางการแพทย์ใช้ต่อไป

” ขณะเดียวกัน มข. ยังได้รับอนุญาตจากทาง อย.ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ เม็ดอม,แผ่นแปะ,หรือยาเหน็บทวารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเมื่อพัฒนารูปแบบดังกล่าวได้แล้ว จะส่งต่อไปยังคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจศึกษาวิจัยด้านโรคต่างๆที่ใช้ยาจากกัญชาเป็นองค์ประกอบของสารสำคัญแบบต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นมีแพทย์ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ที่จะเอายาจากกัญชาไปใช้ในกลุ่ม โรคพากินสัน,โรคอัลไซเมอร์,โรมะเร็งรังไข่,โรสะเก็ดเงิน ซึ่งอยู่ในระหว่างของการดำเนินการเรื่องจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ ก่อนจะศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางด้านงานวิจัย เพื่อทางด้านการแพทย์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม มข.โดย สถาบันแคนนาบิส ครบศาสตร์ ได้ดำเนินการครอบคลุมและครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ก่อนที่จะมีการนำไปใช้จริง และมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รองรับ เมื่อหมอได้ดูแลผู้ป่วยที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จะทำให้มั่นใจในการใช้ ดังนั้น ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศอย่างเดียว เพราะเรามีสมุนไพรไทย ที่สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคที่สำคัญ ๆ ของประเทศไทยได้อย่างครบวงจร”

Scroll to Top