วิทยุ มข. บริการชุมชน : ปัญหาสัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้ง สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนใกล้เคียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น

     จากการประชุมเครือข่ายชุมชน ที่อยู่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่น ชุมชนโนนมม่วงหมู่ ม.3 ม.12 ม.19 ม.27 ม.23 ชุมชนสามเหลี่ยม 1-4 และชุมชนวัดป่าอดุลยาราม ประเด็นที่ผู้ใหญ่บ้านและประธานชุมชนได้สะท้อนในที่ประชุมคือปัญหาสัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้ง เช่น สุนัข แมว  จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวชุมชน  จากประเด็นดังกล่าว รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน จึงได้เชิญ  สัตวแพทย์หญิงภัชญา ทัศคร จากโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาให้ความรู้ในการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง พร้อมเรียนเชิญ นายสราวุธ โกศลวิทยานันต์ รองประธานชุมชนสามเหลี่ยม 1 เทศบาลนครขอนแก่น มาเล่าถึงปัญหาจากการที่สัตว์เลี้ยงที่ถูกทอดทิ้งในชุมชน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563
      เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเล็ก แถมบางคู่แต่งงานไม่มีบุตร ไหนจะผู้สูงอายุ และคนโสด สัตว์เลี้ยงจึงมาเติมเต็มชีวิตของผู้คนมากขึ้น แต่ในปัจจุบันผู้คนไม่ได้เลี้ยงสัตว์แบบ Pet Lover ที่แค่รักหรืออยากมีสัตว์เลี้ยง แต่กลับฟูมฟักเลี้ยงดูแบบ Pet Parent ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงยอมควักกระเป๋าจ่าย เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ในปี 2562 ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงเฉพาะสุนัขและแมว (ไม่รวมสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ) มีมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 10% มีผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหัวหอกในการเติบโตดันมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจสัตว์เลี้ยงโตกว่า 3 หมื่นล้านบาทและยังเฟื่องฟูได้อีกเป็นทศวรรษ โดยแบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์มีสัดส่วนใหญ่สุด 45% ตามมาด้วยธุรกิจดูแลสุขภาพสัตว์ เช่น โรงพยาบาล คลินิก บริการอื่นๆ มีสัดส่วน 32% และธุรกิจสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อผ้า ของเล่น ซึ่งมีสัดส่วน 23% ทั้งนี้ 5 ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโต  ปัจจุบันแม้ว่ามีกลุ่มคนที่เลี้ยงดูสุนัข และ แมวได้ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีคนอีกกลุ่มที่นำ “สัตว์เลี้ยง”  มาเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย จนในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาสังคมในวงกว้าง (ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news)

(เรียงจากซ้าย) สัตวแพทย์หญิง ภัชญา ทัศคร นายสราวุธ โกศลวิทยานันต์

      นายสราวุธ  โกศลวิทยานันต์  รองประธานชุมชนสามเหลี่ยม 1 กล่าวว่า ในชุมชนสามเหลี่ยม 1-4 และชุมชนวัดป่าอดุลยาราม พบปัญหาคล้ายกันคือสุนัข แมว ถูกทอดทิ้ง ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหอพักนักศึกษา และคนอาศัยอยู่จำนวนมาก สัตว์เลี้ยงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร ที่มาอยู่อาศัย บวกกับค่านิยมของคนสมัยใหม่ ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน แต่พอสัตว์เลี้ยงมีอายุมาก หรือหมดความสวยงาม ก็ถูกนำไปปล่อยตามวัด ตามสวนสาธารณะ หรือ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะพบฝูงสุนัขจรจัด บางครั้งก็เป็นอันตรายต่อผู้คนที่สัญจรไปมา เพราะโดนสุนัขกัด และซ้ำร้ายไปกว่านั้นสุนัขเหล่านั้นไม่มีเจ้าของ และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าง ผู้ที่ถูกสุนัขกัดก็ไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากใคร ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

สัตวแพทย์หญิง ภัชญา ทัศคร จากโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข.

      สัตวแพทย์หญิง ภัชญา ทัศคร จากโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ไขข้อสงสัยในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในรายการว่า การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และ แมว ที่ถูกวิธีควรคำนึงถึง ที่อยู่อาศัย อาหารและน้ำ การออกกำลังกาย สุขอนามัย  สังเกตพฤติกรรมและความผิดปกติของสัตว์เลี้ยง  การนำสุนัขไปปล่อย มีความผิด ประชาชนที่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อย เข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการ ทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือ กระทําการใดๆให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน40,000 บาท การนำอาหารไปให้สุนัขตามรายทาง ไม่ควรทำเพราะเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์เพิ่มจำนวนสุนัขจรให้มากขึ้น รวมถึงส่งผลเสียในเรื่องของความสะอาดและการควบคุมโรค วิธีป้องกันสุนัขกัด เมื่อต้องเผชิญหน้า อย่าตื่นตระหนก อย่าวิ่งหนี เนื่องจากสุนัขเป็นสัตว์นักล่า เบนความสนใจด้วยสิ่งอื่น ค่อยๆเดินจากบริเวณนั้นอย่างช้าๆและระวังตัว ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกสุนัขกัด  ต้องล้างแผลด้วยน้ำให้สะอาดทันที และไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจประเมินความเสียหายของบาดแผล และพิจารณาว่า ควรรักษาแผลด้วยวิธีอย่างไร รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดยาและวัคซีนป้องกันโรคด้วย  เมื่อพบเห็นสุนัขถูกรถชนที่ถนน ในกรณีนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ซึ่งนั่นก็คือ สุนัขที่ถูกรถชนเป็นสุนัขที่มีเจ้าของหรือเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของโดยเบื้องต้นสังเกตจากการมีปลอกคอ ถ้ามี คาดว่าจะเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ในกรณีนี้ ถ้าสุนัขอาการดูทรงตัวดี ผู้พบเห็นอาจลองตามเจ้าของในละแวกใกล้เคียง หรือถ้าสุนัขอาการดูแย่ อาจนำมาส่งโรงพยาบาลก่อน เพื่อให้สัตว์ได้รับการรักษาจนสัตว์พ้นขีดอันตราย และทำการประกาศหาเจ้าของที่แท้จริงต่อไป ส่วนในกรณีที่สัตว์ไม่มีปลอกคอ ก็คาดว่าไม่มีเจ้าของ ผู้พบเห็นก็อาจพามาโรงพยาบาลให้สัตว์ได้รับการรักษา เมื่อหายดี ถ้าไม่ได้อุปการะดูแลเค้าต่อ ก็อาจนำสัตว์ไปไว้ที่เดิม แต่ในบางกรณีสัตว์พิการ ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ ก็อาจติดต่อมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง ในการอุปการะการดูแลดูไปแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าสัตว์ตัวนั้นจะมีสถานะมีเจ้าของหรือไม่ ผู้ที่นำสัตว์มาโรงพยาบาลจะถือว่าเป็นเจ้าของสัตว์ในเบื้องต้น และจะต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล   หากมีกรณีปัญหาสุนัขจรจัดในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะสัตวแพทย์หรือประชาชนจะแก้ไขได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีนโยบายในระดับภาครัฐที่ต้องกำหนดมาตรการในการจัดการปัญหาออกมา แต่ทั้งนี้ หากชาวชุมชนสามารถจัดตั้งโครงการ หรือมีการระดมทุน เพื่อสร้างสถานพักพิงให้กับสุนัขจรจัด เพื่อให้เขาได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีการนำสัตวแพทย์เข้ามาทำหมันเพื่อป้องการการเพิ่มจำนวน การให้วัคซีนสุนัขตามโปรแกรม ในการป้องกันการเกิดโรคระบาด รวมถึงโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ให้การดูแลจนวันหนึ่งสุนัขหมดอายุขัยไปเอง ควบคู่การกับให้ความรู้ในการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้องกับประชาชน ปริมาณสุนัขจรจัดในชุมชนก็จะลดลงและค่อยๆหมดไป

       รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน เป็นรายการที่ให้บริการประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายในชุมชน และเป็นช่องทางการสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ออกอากาศเป็นประจำทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี  เวลา 15.00-16.00 น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น FM.103 MHz. และ Live สดผ่านทาง Face book  KKU Radio สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ https://radio.kku.ac.th/ ติดต่อร่วมรายการได้ที่ คุณชุตินันท์ พันธ์จรุง โทร 086-6545144 หรือ pchutinan@kku.ac.th ผู้ดำเนินรายการ

ข่าวโดย ชุตินันท์ พันธ์จรุง
ขอบคุณภาพประกอบจาก บริพัตร  ทาสี

 

Scroll to Top