ไอคิวทะลุฟ้า – นศ.มข.ผุดธุรกิจสตาร์ตอัพ‘ขนเก่ง’แอพพลิเคชั่นขนส่ง

สำนักข่าว: ข่าวสดออนไลน์
URL: https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_4865565
วันที่เผยแพร่: 8 ก.ย. 2563

นศ.มข.ผุดธุรกิจสตาร์ตอัพ – มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดกิจกรรมเปิดตัว The Beegins Co-Working Space ที่ชั้น 1 อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นักศึกษาตลอดจนเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ เหล่านภากุล รองผู้อำนวยการด้านเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมและโครงสร้าง อุทยานวิทยาศาสตร์ เผยว่า The Beegins Co-Working Space อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจนวัตกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่

โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพ สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งาน ได้ตามความต้องการ ภายในประกอบไปด้วย Share Space ห้องประชุมย่อย และ Outlet by KKUSP โซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ ที่ถือเป็นจุดเชื่อมโยงผู้คนให้เกิดเครือข่ายความรู้ แลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจ

นายคุณานนท์ สุกทน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อุทยานวิทย์ฯ สนับสนุนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พร้อมเจ้าหน้าที่ คณาจารย์ ให้คำแนะนำในการออกแบบร่างโครงการเพื่อธุรกิจสตาร์ตอัพ กระทั่งตนและเพื่อนสามารถวางเค้าโครงธุรกิจที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันได้สำเร็จ เพื่อใช้ นำเสนอผลงานในโครงการ Solar Floating System for Smart City Mini-Hackathon นวัตกรรมที่ตนและทีมคิดค้นขึ้นคือ “ขนเก่ง”

แอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนการขนส่งไม่ให้เกิดการขาดทุน ได้ประโยชน์ทั้งสถานประกอบการบริษัทและผู้ขับรถขนส่ง หลักการคือหากผู้ขับรถเดินทางไปส่งของจังหวัดใดแล้วไม่อยากตีรถเปล่ากลับ สามารถเข้าแอพพลิเคชั่นเพื่อหาผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าหรือของอื่นๆ ไปยังจังหวัดปลายทางได้ด้วยวิธีประมูลราคา

“เราสามารถจับคู่เจอเพื่อนต่างคณะเพื่อมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยกันอย่างลงตัว เช่น ผมเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ สนใจเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งสาธารณะและพาณิชย์ ได้มาผสานกับพี่ๆ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่มีความรู้ด้านการผลิตและการออกแบบแอพพลิเคชั่น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อทำบางอย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อการประกวด แต่เพื่อให้สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ แก้ไขปัญหาสังคมได้จริง และสร้างเม็ดเงินกลับคืนยังผู้ผลิต เป็นการทำโครงการการเรียนที่สนุกมากครับ” นายคุณานนท์กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top