มข. ชูนโยบาย Ecological นำระบบ ERP ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มระบบ

          มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลนำระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศแบบใหม่เพื่อใช้ในการบริหารงานทั่วทั้งองค์กร มาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรและความร่วมมือของสมาชิกในองค์กรเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ที่เป็นการเอื้อประโยชน์และพัฒนาศักยภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กรให้มีความสามารถที่ทันกับเทคโนโลยีและก่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเป้าหมายการนำระบบ ERP มาใช้ ไม่ใช่การหาซอฟแวร์ที่ดีหรือทันสมัย  แต่เป็นการ Change Management เพื่อบริหารองค์กรให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2563  เวลา 13.00 – 16.00 น. ฝ่ายบริหาร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.นพ. ธรา  ธรรมโรจน์  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร จัดการสัมมนาการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานทั่วทั้งองค์กร (Enterprise Resource Planning – ERP) ให้กับ รองอธิการบดี  ผู้ช่วยอธิการบดี  ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย  คณบดี  รองคณบดี  ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการทุกคณะหน่วยงาน  เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงระบบสารสนเทศที่ใช้ในการบริหารของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา  และมีวิทยากร ผศ.ดร.เด่นพงษ์  สุดภักดี  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล ได้บรรยายในหัวข้อ Digital Infrastructure  และ  ดร.ฐิติพงศ์  นันทาภิวัฒน์  ได้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ IT in Governance  ต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงระบบสารสนเทศที่ใช้ในการบริหารของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ณ  ห้องประชุม Auditorium  ชั้น 2  อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

          รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า  “ด้วยเทคโนโลยีและความต้องการในการใช้งานระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยมีความต้องการที่มากขึ้น ต้องการให้ตอบสนองต่อบริหารงานและการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตทุกด้าน (Digital Disruption) ในปัจจุบัน  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้มีนโยบายการปรับปรุงระบบสารสนเทศที่ใช้ในการบริหารและปฏิบัติงาน โดยใช้ระบบบริหารทรัพยากรทั่วทั้งองค์กร (Enterprise Resource Planning System : ERP) ซึ่งประกอบด้วย ระบบบริหารงานบุคคล ระบบบัญชีการเงิน และระบบจัดซื้อจัดจ้างและพัสดุ ระบบการบริหารจัดการทะเบียนนักศึกษา (Campus Management) ระบบการประมวลผลข้อมูล (Business Intelligence Management) เพื่อพัฒนาให้ระบบต่าง ๆ เชื่อมโยงข้อมูลเข้าถึงกัน รองรับต่อการปฏิบัติงาน และเป็นแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจของผู้บริหารทุกระดับต่อไป”

20 ปีที่ผ่านมา  การพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในปัจจุบัน  การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน หรือการดำเนินงานในรูปแบบใหม่ในโลกดิจิทัลกำลังขยายวงกว้างออกไปทำให้องค์กรต่างมีการกำหนดแนวทางในการทำ Digital Transformation เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของ Digital Disruption  ที่มีผลทำให้องค์กร ต้องมีการปรับตัวการนำเทคโนโลยีดิจิทัลแบบใหม่มาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรและความร่วมมือของสมาชิกในองค์กรเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับและพัฒนาศักยภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กรให้มีความสามารถที่ทันกันเทคโนโลยีและก่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานทั่วทั้งองค์กร (Enterprise Resource Planning – ERP) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนโยบายหลัก ด้าน Ecological  ดำเนินการให้ระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 8 ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล  โดยจะมีการดำเนินการโครงการนี้ แบ่งเป็น2  ช่วงระยะ  ทั้งนี้ในระยะที่ 1  จะเป็นการจัดทำกรอบวิธีการปฏิบัติงานของทุกระบบให้มีมาตรฐานและสร้างฐานข้อมูลร่วมกัน โดยใช้ระยะเวลาดำเนินงาน  9  เดือน  ในระยะที่ 2     เป็นการติดตั้งระบบสารสนเทศในส่วนของระบบงานแผนและงบประมาณ  ระบบงานพัสดุ  ระบบงานบัญชี  ระบบบริหารงานบุคลากร  และระบบการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ระยะเวลาดำเนินงาน  15  เดือน

การดำเนินการเพื่อนำระบบสารสนเทศเพื่อการการบริหารงานทั่วทั้งองค์กร  หรือ Enterprise Resource Planning  (ERP)  มาใช้เพื่อให้เกิดความประโยชน์สูงสุดในการวางแผนและบริหารทรัพยากร ให้มหาวิทยาลัยมีการปฏิรูประบบการทำงานร่วมกัน  เพิ่มประสิทธิภาพและความเหมาะสมให้กับกระบวนการทำงานเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว  และลดค่าใช้จ่ายโดยรวมขององค์กร  มีระบบฐานข้อมูลที่มีมาตรฐาน ครบถ้วนและทันเวลาสำหรับผู้บริหารในการตัดสินใจและวางแนวทางในการดำเนินการของมหาวิทยาลัย  และเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานและมีการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการบริหารองค์กรให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป

ผศ.นพ. ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล
ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์

ข่าว   :   วัชรา   น้อยชมภู
ภาพ   :   วัชรา   น้อยชมภู  /  ณัฐกานต์  อดทน

Scroll to Top