3 ม. ผนึกกำลังระดมแนวคิด 7 ด้าน ปรับตัวเพื่อการพัฒนาไทย

               เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- มอ.-มช.”3 พลังเพื่อแผ่นดิน”ครั้งที่ 5 โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิทยาเขตหนองคาย  ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการนี้มีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากรจากทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีกว่า 508 คน ณ ห้องประชุมดวงชนก ดวงจิตต์ รีสอร์ท อ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต

               โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- มอ.-มช.”3 พลังเพื่อแผ่นดิน”ครั้งที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ เปิดโอกาสให้ ผู้บริหารระหว่างมหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี พร้อมการพัฒนาความร่วมมือระดับคณะ/หน่วยงานให้เกิดเป็นรูปธรรม ส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนามหาวิทยาลัยตามยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาตามบริบทได้อย่างเหมาะสมแบบก้าวกระโดด  และ กระชับความสัมพันธ์ สร้างมิตรภาพความร่วมมือให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างยั่งยืน

               ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวว่า ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- มอ.-มช.”3 พลังเพื่อแผ่นดิน”ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งได้รับการสนับสนุน ความร่วมมือ จากแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี  ในครั้งนี้ได้จัดพิธีเปิดเป็นการรดน้ำต้นกล้า 3 สถาบัน  โดยหวังว่าต้นกล้าเหล่านี้จะเติบโต พร้อมกับแนวคิดที่สร้างสรรค์  มีคุณภาพต่อไป

               วันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ การบริหารมหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม  นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามความเชี่ยวชาญ และ สนใจ ทั้งหมด 7 หัวข้อ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ด้านการเรียนการสอน Life long Learning (Credit Bank) กลุ่มที่ 2 ด้านการวิจัย การปรับระบบการวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการจัดสรรทุนวิจัยของต่างประเทศ กลุ่มที่ 3 ด้านการบริการวิชาการ การบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูง การสร้างผลงานจากการบริการฯ เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ กลุ่มที่ 4 ด้านการบริหารจัดการ Digital University (Smart Office , Digital transformation, Big data ) กลุ่มที่ 5 ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม Cultural Economy เศรษฐศาสตร์เชิงวัฒนธรรม กลุ่มที่ 6 ด้านการพัฒนานักศึกษา Smart Student กลุ่มที่ 7 University startup Eco System ซึ่งเชื่อว่าการร่วมโครงการครั้งนี้ทุกท่านจะ ประทับใจในการต้อนรับอย่างอบอุ่น  และ ยังได้รับแรงบันดาลใจ  พร้อมนำแนวคิดสำคัญ  จากการปาฐกถาพิเศษ  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันไปสานต่อ ในระดับคณะหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ นักศึกษา อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน  เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย  และส่งผลต่อความเข้มแข็งของการพัฒนาประเทศไทยร่วมกัน

               ภายหลังพิธีเปิด  เป็นการปาฐกถาพิเศษ  พิธีลงนามความร่วมมือ 3 สถาบัน และ การบอกเล่าเรื่องราวของสถาบันต่อที่ประชุม  โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิทยาเขตหนองคาย   มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย

             รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิทยาเขตหนองคาย   มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีแผนยุทธศาสตร์การบริหารใน 4 ปีข้างหน้า ระหว่าง พ.ศ. 2563 – 2566  โดยสภามหาวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมาย นโยบายและพันธกิจที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านประชาคม หรือ ผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัย (People) ด้านระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย (Ecological) และ ด้านจิตวิญญาณแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น (Spiritual)

               “เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นโยบายและพันธกิจดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ (Transformation) ทั้งด้านการจัดการศึกษาการวิจัยการบริการวิชาการการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และด้านการบริหารจัดการองค์กร  เช่น  1. ด้านประชาคม (People) ได้ปรับเปลี่ยนด้านการศึกษา เพื่อประชาชนทุกอายุ ปรับเปลี่ยน ระบวนทัศน์ที่เน้นการสอนเป็นเน้นการเรียนรู้(Teaching paradigm to Learning paradigm) ปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย  โดยปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัย เป็นการทำวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือตามปัญหาของประเทศ 2. ด้านระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย (Ecological) มีการปรับเปลี่ยน สร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่น่าทำงาน โดยการสร้างเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ทำงานให้ครบถ้วน พัฒนาสภาพแวดล้อมให้ถูกหลักอาชีวอนามัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ทำงานที่สนุกและท้าทาย ทำให้คณาจารย์และบุคลากรอยากทำงานด้วยมากที่สุด 3. ด้านจิตวิญญาณความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น (Spiritual) มุ่งเน้นการแสวงหาการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยการจัดทำโครงการที่เป็นเรือธงในการพัฒนา สร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ และเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาแต่ละคณะ  เช่น โครงการศูนย์กลางบริการทางการแพทย์(Medical hub) เป็นโครงการหลักสำหรับคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2) โครงการฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farming) เป็นโครงการหลักสำหรับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โครงการเพื่อศิลปวัฒนธรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative economy) และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน  สำหรับคณะในกลุ่มสังคมศาสตร์”  รศ.เพียรศักดิ์ กล่าว

               ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายด้านการพัฒนานวัตกรรม  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้แยก ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจออกมาจากฝ่ายวิจัย ซึ่งมีภารกิจในการทำวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม ไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการสร้าง นักศึกษาให้เป็น startup ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา เราพยายามสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ๆ แก่นักศึกษาเพื่อให้พวกเขาเกิดความตระหนัก ในการเป็นผู้ประกอบการ เช่น การตั้ง maker Space ที่ห้องสมุด และมีอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆเช่น 3D Printer ช่วยให้นักศึกษาสามารถขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี  ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีแบบจำลองที่สร้างจาก maker space ประมาณ 7-8 ร้อยชิ้นงาน

               “นอกจากนี้ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น โครงการวางแผนการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจ (IP Demo Day 2019) โดยให้นักศึกษาในรายวิชาคณะต่างๆ รวมกลุ่ม เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ และวางแผนการตลาดผลิตภัณฑ์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และยังมีการเปิดรายวิชาที่เป็นโมดูล ชื่อวิชา innovative entrepreneur เป็นวิชาศึกษาทั่วไป นักศึกษาต้อง pitching เข้ามา โดยการนำเสนอความคิดว่าตนเองต้องการที่จะทำอะไร เมื่อเข้ามาศึกษาแล้วการเรียนการสอนจะเป็นโมดูล สอนโดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอง รวมไปถึงมีผู้มีประสบการณ์  startup หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านนั้นๆมาแลกเปลี่ยนความรู้ ในการทำธุรกิจ และมีทุนให้ทำ Prototype เพื่อที่จะนำไปต่อยอด ดังนั้นเมื่อเรียนจบเทอม เราก็จะได้ startup หรือบริษัทจากนักศึกษาเกิดขึ้น”ศ.ดร.ศุภชัย

               ทั้งนี้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.- มอ.-มช.”3 พลังเพื่อแผ่นดิน”ครั้งที่ 5 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2562  โดยครั้งแรกมี มหาวิทยา  ลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ โดยตลอดระยะที่ผ่านมา ทั้งสามมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน จัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้เป็นสถาบันในการศึกษาหลักของภูมิภาค และพัฒนาประเทศผ่านนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนด นอกเหนือจากภารกิจหลักของทั้งสามมหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการผลิตบัณฑิต และพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในแขนงวิชาชีพ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน หมู่บ้าน และภูมิภาคให้เกิดความเข้มแข็ง และนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

 

Scroll to Top