ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมกับศิลปวัฒนธรรมลาว-ไทย “มรดกล้านช้าง”

วันที่ 3 -9 สิงหาคม 2562  โครงการความร่วมมือทางวิชาการศิลปวัฒนธรรมลาว-ไทย “มรดกล้านช้าง”  ครั้งที่ 6  จัดโดย ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว โดยมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ   รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มข. เป็นประธาน ได้นำคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เครือข่ายนักประวัติศาสตร์ศิลป์ จากสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ รวมจำนวน  50  คน เดินทางไปยังแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมจังหวัดต่างๆในอีสานตอนใต้ ได้แก่นครพนม อุดรธานี สกลนคร อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ และเมืองปากเซ เมืองปากซอง  แขวงจำปาสัก  สปป.ลาว เพื่อศึกษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และวิถีชีวิตชนเผ่า นำมาสู่การเขียนบทความวิชาการเผยแพร่ โดยมีวิทยากรผู้ให้ความรู้ซึ่งร่วมเดินทางคือ ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรม นักวิชาการด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลป์  รศ.ดร. ชวลิต อธิปัตยกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ประธานศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์ถิ่นอีสาน  ดร.สุเนตร โพธิสาน นักวิชาการ สปป.ลาว อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลาว ผู้ศึกษารวบรวมศึกษาประวัติศาสตร์ชาติลาว  และรศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ   รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มข.
สำหรับกิจกรรมในโครงการครั้งนี้ได้มีพิธีเปิดโครงการในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 ที่ คุ้มสีฐาน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เดินทางไปชมสถานที่สำคัญต่างๆเช่น แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์พระพุทธบาทบัวบก พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง พระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระธาตุพนม สิมวัดมโนภิรมณ์ จังหวัดมุกดาหาร เสมาพันปี จังหวัดอำนาจเจริญ วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้นยังได้เดินทางต่อไปยัง สปป.ลาว ผ่านทางด่านช่องเม็ก เพื่อไปชมศิลปกรรมปราสาทวัดภู โฮงนางสีดา พระธาตุสามปาง และวัฒนธรรมชนเผ่ากระตู้ ที่เมืองเซกอง นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนวิจิตรศิลป์เมืองปากเซ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการร่วมกันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในระหว่างการเดินทางคณะผู้ร่วมโครงการได้ร่วมกันเสวนาอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ในมุมต่างๆของสิ่งที่ได้ชมโดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความคิดเห็นและความรู้ โดยมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย เพื่อเป็นการจุดประกายความสนใจของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่จะนำมาสู่งานเขียนซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้เลือกประเด็นที่ตนเองสนใจและมีความรู้ไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนส่งผลงานมาตีพิมพ์ ทั้งนี้รวมถึงผลงานของนักวิชาการจากทาง สปป.ลาว ด้วย
 ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรม ซึ่งให้เกียรติเป็นวิทยากรครั้งนี้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ การพยายามศึกษาอดีตก็คือความพยายามที่จะทำความเข้าใจรากเหง้าของตัวเองว่ามันเป็นมาอย่างไรเพื่อจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นใช้เป็นพื้นฐานสำหรับสิ่งอื่นๆในการดำรงอยู่ของปัจจุบัน และเป็นการเตรียมตัวเพื่อก้าวไปในอนาคตที่ดี สิ่งที่เราได้จากการศึกษาทางศิลปกรรมมันไม่ได้รู้เพียงแค่ตัวศิลปกรรมเท่านั้นแต่มันได้รู้ผ่านไปถึงในความคิดของคนที่ทำศิลปกรรมนั้นด้วย”
การเสวนาอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางมีทั้งประเด็นประวัติศาสตร์ที่มาของการเกิดโบราณสถานโบราณวัตถุ คติความเชื่อบริบททางสังคมวัฒนธรรม และตำนานเรื่องเล่าที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่พบเห็น โดยมาจากการศึกษาค้นคว้าและตำราต่างๆที่มาจากสองประเทศในแผ่นดินล้านช้าง
ดร.สุเนตร โพธิสาน นักประวัติศาสตร์จาก สปป.ลาว อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลาว กล่าวว่า “ในประเทศของผมสอนไว้ไม่ให้ลืมอดีตเพราะอดีต ปัจจุบัน อนาคต เสมือนโซ่3ข้อที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทุกอย่างในอดีตนำมาซึ่งเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เราใช้ในการเข้าใจความสัมพันธ์ของมนุษย์ เราศึกษาเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวเพื่อก้าวไปสู่อนาคต การศึกษาทางประวัติศาสตร์ต้องศึกษาอย่างวิเคราะห์ด้วยข้อมูลหลักฐานที่ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยึดติดกับประวัติศาสตร์ความเป็นตัวเอง แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างความเป็นเอกภาพของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์”
รศ.ดร. ชวลิต อธิปัตยกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า ประวัติศาตร์บอกถึงองค์ความรู้ที่ถูกพัฒนาการแล้วในช่วงเวลาหนึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือสิ่งก่อสร้างล้วนเพื่อตอบโจทย์ความคิดในเวลานั้น  การศึกษาบทเรียนทางประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งของหรือวัตถุมันจะเป็นหลักของนักโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ศิลป์ มากกว่าที่จะศึกษาผ่านประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นมาจากคำบอกเล่าหรือจากเอกสารอ้างอิง สิ่งของเหล่านี้จะทำให้เรารู้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งๆของมนุษย์ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง
รศ.ดร. ชวลิต อธิปัตยกุล ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ต่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของชาติในปัจจุบันอีกว่า  “ศิลปะมันเป็นเรื่องของมนุษยศาสตร์เป็นชาติพันธุ์เป็นท้องถิ่นของเรา เป็นรากเหง้าของความรุ่งเรือง แม้วันนี้ผู้คนจะเข้าใจว่าการพัฒนาประเทศเกิดจากทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  แต่คุณอย่าลืมก่อนที่เราจะมีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเราอยู่ด้วยกันมาอย่างไรไม่ใช่เพราะความเป็นชาติพันธุ์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนหรือ ความเป็นตัวตนมันนำมาสู่ความเจริญที่ผ่านยุคผ่านสมัยซึ่งหากเราละเลยความคิดทางศิลปะแล้วปล่อยให้เทคโนโลยีครอบงำมันจะทำให้เราสูญเสียจิตวิญญาณของคนไปผมจึงเชื่อว่าศิลปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อคนเราในทุกยุคทุกสมัย”
มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้วางรากฐานความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรม ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการศิลปวัฒนธรรมลาว-ไทย “มรดกล้านช้าง” มาตั้งแต่ พ.ศ.2549 เพื่อศึกษาร่องรอยทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของอาณาจักรล้านช้างที่มีมายาวนานในดินแดนอีสานและของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำมาสู่การรวบรวมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอบทความวิชาการทางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านช้าง โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันนี้และเกิดผลงานบทความวิชาการตีพิมพ์มาแล้วจำนวน 3 เล่ม มีบทความจำนวน 129 เรื่อง

Scroll to Top