2 นักวิจัย มข.สุดปัง! คว้ารางวัล “นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567”

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมจัด “งานเปิดตัวนักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567” ณ ห้อง Lotus Suite 3 – 4 ชั้น 22 บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความอบอุ่นผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ  ทั้งยังมีการแถลงงานวิจัยของนักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 และแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการวิจัยดังกล่าว โดยผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2567 จำนวน 3 ท่าน โดยในจำนวนนี้เป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นถึง 2 ท่าน ได้แก่

ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรยายเกี่ยวกับโครงการ “กลุ่มวิจัย: สร้างองค์ความรู้ใหม่ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ถูกละเลยและโรคที่นำโดยพาหะแบบบูรณาการวิจัย เพื่อพัฒนาผลิตนวัตกรรมใหม่สู่การประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสังคมไทยที่ยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการประยุกต์การวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ถูกละเลย และโรคที่นำโดยพาหะแบบบูรณาการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัย การรักษา และป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง อาจารย์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายเกี่ยวกับโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวเคมีภัณฑ์จากชีวมวลและวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภายใต้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” โดยแบ่งเป็น 2 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์มพลังงานชีวภาพที่มุ่งผลิตไฮโดรเจน มีเทน และไบโอไฮเทน และแพลตฟอร์มชีวเคมีภัณฑ์ที่มุ่งผลิตสารเคมีมูลค่าสูง เช่น กรดไขมันและพอลิเมอร์ชีวภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง

นอกจากนี้ ยังมี รศ. ดร.อุไรวรรณ อรัญวาสน์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นผู้บรรยายแทนศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “มาลาเรียลิงที่ติดต่อมาถึงคน: บทบาทของยุงพาหะและลิงหางยาวและการพัฒนาแผนที่ทำนายความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย”

ทั้งนี้ ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยศักยภาพสูงทั้ง 3 ท่าน มุ่งเน้นผลสำเร็จ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

 

ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

Scroll to Top