สถาบันวิจัยและนวัตกรรมนาโนเพื่อพลังงาน มข. ฝ่าวิกฤติโควิด-19 สร้างตู้ระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์ มอบให้ รพ.ศรีนครินทร์

       จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก  ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในหลายโรงพยาบาล จากสถานการณ์นี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หรือ ผลงาน DIY  (Do it yourself) เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนดังกล่าว
โดยฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างตู้ “ระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ โดยใช้ระบบโอโซน และ UV” มอบให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ และช่วยทำให้การทำงานของ แพทย์ พยาบาล มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น            พิธีส่งมอบเครื่อง “ระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ โดยใช้ระบบโอโซน และ UV”  ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่  2 เมษายน 2563  โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานส่งมอบตู้ระบบพ่นฆ่าเชื้อฯ ให้ รศ.นพ. อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์  และมี ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ รศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน และ ดร.วิรัตน์ เจริญบุญ คณะทำงาน บุคลากรทางกาแพทย์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี  นอกจากนี้ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ยังส่งมอบ Face Shield ให้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,500 ชิ้น
รศ.ดร. วิทยา  อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงระบบการทำงานของตู้ “ระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ โดยใช้ระบบโอโซน และ UV” ว่ามีการทำงาน 2 ระบบ คือระบบแรกตั้งเวลาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ  จากนั้นนำมาทำความสะอาดในระบบที่ 2 คือการอบโอโซน และ UV  ซึ่งจากการทดลองมั่นใจได้ว่าเชื้อโรคตายจริงเมื่อผ่านทั้ง 2 ขั้นตอนนี้  อีกทั้งตู้นี้ยังสามารถใช้ได้กับคน เพื่อฆ่าเชื้อที่ติดอยู่ภายนอกตัวคนได้ แต่ต้องเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถใช้ได้กับคนอย่างปลอดภัย  โดยลักษณะของตู้อบนั้นเป็นตู้ 2 ตู้ติดกัน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำตู้สามารถหาได้ทั่วไป และมีต้นทุนไม่แพง  ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในต่างประเทศในช่วงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลนนี้ ก็มีการพัฒนาทำตู้อบนี้ขึ้นมาใช้เองเช่นเดียวกัน


ศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ฝ่ายฯ มีหน้าที่สนับสนุน นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่สังคมโดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยของศูนย์ สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เราทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละสาขาวิชามาใช้แก้ปัญหาในช่วงการระบาดโควิด -19  หลายโรงพยาบาลขาดแคลนชุด PPE  (PPE : Personal Protective Equipment) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักขององค์กรอนามัยโลก  สำหรับชุด PPE ที่ใช้ในการคัดกรองผู้มีความเสี่ยง  ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้แต่ต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานก่อน  เมื่อเราทราบปัญหาและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้ขอให้นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน  โดยมี ศ.ดร.วิทยา  อมรกิจบำรุง เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ผศ.ดร.วิรัตน์ เจริญบุญ พร้อมคณะทำงาน พัฒนาและสร้างตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 สำหรับชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้น เพื่อนำไปมอบให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์   นอกจากนี้ยังมีการทดสอบโครงสร้างจุลภาคและการกันน้ำของหน้ากาก N95 หลังการใช้ UV และ Ozone ฆ่าเชื้อ เพื่อทดสอบการนำกลับมาใช้ซ้ำของหน้ากาก N95   พัฒนาตัวฉากกั้น และการเก็บตัวอย่างจากเชื้อโควิดจากคนไข้ การศึกษาแนวทางการทำหน้ากากอนามัยด้วยเส้นใยนาโน เพื่อทดแทนหน้ากาก N95 ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากบุคลากรของ Science Park  ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ร่วมแรงร่วมมือกันทำ Face Shield  เพื่อแจกให้กับบุคลากร และก็นำไปมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ  เช่น  โรงพยาบาลนครพนม  โรงพยาบาลชัยนาท โรงพยาบาลบ้านฝาง โรงพยาบาลสระแก้ว และ โรงพยาบาลศรีนครินทร์  ในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์

       ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่าน e-mail : wiratja@kku.ac.th เบอร์โทร 0866408352 ผศ.ดร.วิรัตน์  เจริญบุญ  อาจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว :ชุตินันท์  พันธ์จรุง
ขอบคุณภาพข่าวจาก ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ และ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน

Scroll to Top