มข.ขยายความรู้สู่โรงเรียนด้อยโอกาส ด้วยนวัตกรม KKU Smart Learning ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

KKU Smart Learning พัฒนาสมรรถนะนักเรียน ด้วยนวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ต้นแบบวิจัยชั้นเรียน  ขยายผลสู่โรงเรียนด้อยโอกาส

การสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือ PISA (Programme  for International Student Assessment) เป็นการวัดระดับความรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก จัดสอบขึ้นทุก 3 ปี โดยในปี 2558 เป็นปีที่มีการจัดสอบล่าสุด มีผู้เข้าสอบจาก 72 ประเทศ จำนวนกว่า 540,000 คน ปรากฏว่าผลสอบของเด็กนักเรียนไทย ไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นจากปีก่อนๆ โดยในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน อยู่อันดับ 52 54 และ 57 ตามลำดับ ขณะที่เด็กนักเรียนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามสอบได้อันดับ 8  22 และ 32 ตามอันดับ แม้จะมีภูมิศาสตร์วัฒนธรรม และระบบการศึกษาใกล้เคียงกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กไทยมีทักษะด้านการวิเคราะห์อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน  ทั้งที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามพัฒนาการศึกษาเป็นเวลาหลายสิบปี

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดทำนวัตกรรม KKU Smart Learning นำโดยรศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข  หัวหน้าโครงการ เริ่มดำเนินโครงการในปี 2559 ด้วยการพัฒนารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ ลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน ภายใต้บริบทนักเรียนและโรงเรียนที่แตกต่างกัน รวมทั้งอบรมพัฒนาศักยภาพครูให้สามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้โดยผสานร่วม ระหว่างแนวคิดใหม่  กับความรู้และประสบการณ์เดิม  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ตลอดชีวิตให้แก่เด็กไทย ภายใต้ชื่อโครงการ KKU Smart Learning Academy หรือ  โครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม (Khon Kaen University  Smart Learning Academy)

รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข หัวหน้าโครงการ KKU Smart Learning Academy

       รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข  หัวหน้าโครงการ KKU Smart Learning Academy เผยว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้การดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนใน 3 กลุ่มสาระวิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ โดยอาศัยวิจัยในชั้นเรียนของนักวิจัยที่มีอยู่แล้ว สนับสนุนให้ครูใช้นวัตกรรม KKU Smart Learning เพื่อจัดการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่ โดยในระยะแรกมีเป้าหมายการดำเนินงานกับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในเขตจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีครูเข้าร่วมโครงการ 270 คน และนักเรียนจำนวน 6,000 คนใน 45 โรงเรียน  ปัจจุบันในปีการศึกษา 2563 มีครูเข้าร่วมโครงการ 1,400 คน เป้าหมายขยายโครงการครอบคลุม 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 195 โรงเรียน นักเรียน 31,200 คนโดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการตามเป้าหมายโครงการในระยะเวลา 3 ปี จะมีครูเข้าร่วมโครงการ 4,050 คน นักเรียนกว่า 81,000 คนซึ่งมีครูสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

หลักคิดของ KKU Smart Learning Academy  คือ เปลี่ยนสมรรถนะของนักเรียน โดย ครู และ สภาวะแวดล้อมในชั้นเรียน มี 3 องค์ประกอบหลัก  ได้แก่
ครูจะต้องสอนเนื้อหาที่เด็กสามารถเข้าใจในบทเรียน แล้วสามารถเชื่อมโยงบทเรียนนั้นไปสู่บริบทหรือสภาพแวดล้อมที่มันสร้างความเข้าใจของนักเรียนได้มากขึ้น

วิธีการสอน ครูสามารถสอนโดยใช้เทคนิค วิธีสมัยใหม่ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นเด็กอายุ 13 14 15 ปี ใช้เทคโนโลยีในการศึกษา เรียนรู้ได้ โดยเนื้อหาที่เรียนจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

และสุดท้าย คือ Learning Environment หมายความว่า ครูจะต้องสามารถสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนนักเรียน ทำงานด้วยกัน เรียนนอกชั้นเรียน เรียนรู้ด้วยตนเองได้ แล้วก็กลับมาเข้ามามีส่วนในห้องเรียนได้  ฉะนั้น ครูในโครงการ จะต้องเข้าร่วมการอบรม รับการติดตามผลโดยนิเทศศึกษาในพื้นที่

หัวหน้าโครงการ KKU Smart Learning Academy ยังกล่าวต่ออีกว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับบทบาทอุทิศตนเพื่อสังคม  วิเคราะห์ปัญหาของการศึกษาของชาติ เนื่องจากว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยคงแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้ ปัญหาครูไม่มีเงิน ปัญหาโรงเรียนไม่มีศักยภาพพอ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การพัฒนานักเรียน นำงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสมรรถนะนักเรียน ในระดับมัธยมต้น เชื่อมโยงกับข้อสอบ PISA ซึ่งเป็นข้อสอบของสากลในการวัดสมรรถนะของนักเรียนทางด้านการรู้เท่าทันทางคณิตศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์ และก็ภาษาอังกฤษ อาศัยการวิจัยของอาจารย์ที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการระดมทีมนักวิจัยเลือกหัวหน้าทีมนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นมาเป็นทีมขับเคลื่อนโครงการ”

KKU Smart Learning จึงเป็นนวัตกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะด้านชีวิตและอาชีพของนักเรียน  ตลอดจนพัฒนาความสามารถของครูในการใช้นวัตกรรม KKU Smart Learning ในการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่ในแต่ละเนื้อหาวิชาตลอดจนความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา  และเพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ นักวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย กับศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารและครูที่ทำหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้  ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนอย่างยั่งยืน

 

ข่าว : จิราพร  ประทุมชัย

Scroll to Top