สำนักบริการวิชาการ จัดอบรมหลักสูตร ด้านสมรรถนะ Clinical Supervision และ การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินสำหรับพยาบาลวิชาชีพ เพื่อ Upskill ทางการพยาบาล อย่างต่อเนื่อง

 

สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดอบรมหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาล หลักสูตร “การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินสำหรับพยาบาลวิชาชีพ” รุ่นที่ 9 และ หลักสูตร “สมรรถนะผู้นำทางการพยาบาลด้าน Clinical Supervision” รุ่นที่ 12 ระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ พระราม 6 กรุงเทพมหานคร

ดร.ยุวดี เกตสัมพันธ์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญอิสระ

          โดยหลักสูตร “สมรรถนะผู้นำทางการพยาบาลด้าน Clinical Supervision” รุ่นที่ 12 ได้รับเกียรติจาก ดร.ยุวดี เกตสัมพันธ์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญอิสระ วิทยากรประจำหลักสูตร ผู้นำ Focus Charting มาใช้ในประเทศไทย และท่านผู้ช่วยวิทยากร อาจารย์ละออ อริยกุลนิมิต รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล โรงพยาบาลราชวิถี โดยหลักสูตรได้มุ่งเน้นไปยัง ความหมาย ความสำคัญด้าน Clinical Supervision  รวมถึงเครื่องมือสำหรับการนิเทศทางคลินิก ทั้งในด้านกระบวนการเชิงระบบ การวางแผนการเรียนรู้โดยการนิเทศทางคลินิกและการบันทึก และกิจกรรม(Workshop) บทบาทและความรับผิดชอบผู้นิเทศทางคลินิก การฝึกทักษะ การฟัง และการฝึกทักษะการใช้คำถามในการสะท้อนการปฏิบัติด้วย GROW MODEL ในการปฏิบัติงาน โดยมีพยาบาลวิชาชีพเข้าร่วม 94 ท่านจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ดร.ภัคณัฐ วีรขจร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ

              และ หลักสูตร “การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินสำหรับพยาบาลวิชาชีพ” รุ่นที่ 9 ได้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญประจำหลักสูตรโดย ดร.ภัคณัฐ วีรขจร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ (ด้านการสอน) หัวหน้ากลุ่มงานหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ ผู้ช่วยคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชนก เนื้อหาของหลักสูตรได้มุ่งเน้นไปยัง สถานการณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบันของการใช้นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic ) ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินแบบครบวงจร ระบบกฎหมายและการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉิน  ที่ต้องมี 1. เร็ว 2.ง่าย 3.ถูกต้อง 4.มาตรฐานเห็นตรงกัน นอกเหนือจากการบรรยายแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ กิจกรรม Workshop การพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินกับงานแพทย์ฉุกเฉิน การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลสำหรับพยาบาลวิชาชีพ และระบบการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาล โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 56 คน จาก 36 โรงพยาบาล จากทั่วประเทศ

รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ กล่าวถึงภารกิจของสำนักบริการวิชาการในด้านการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Education) ด้วยการ Reskill/Upskill/New skill ให้แก่ผู้เรียน โดยทางสำนักฯ มีการดำเนินการในรูปแบบของการจัดทำหลักสูตร Professional Training หรือ Short Course Training จำนวนกว่า 20 หลักสูตรซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความรู้ความสามารถ ตลอดจนทักษะและเจตคติทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ทันต่อสถานการณ์และองค์ความรู้ใหม่อยู่เสมอ และยังคงไว้ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ภาพและข่าวโดย ศูนย์จัดการศึกษาตลอดชีวิต

 

#ศูนย์จัดการศึกษาตลอดชีวิต #สำนักบริการวิชาการ

Scroll to Top