ผังเมืองสถาปัตย์ มข. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยโคโลญ ประเทศเยอรมณี ศึกษาดูงานที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการท่องเที่ยวโดยชุมชม ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2566 คณะดูงานสาขาวิชาแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ
มหาวิทยาลัยโคโลญ ประเทศเยอรมณี ศึกษาดูงาน ที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการท่องเที่ยวชุมชน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และพลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์ ที่ปรึกษาศูนย์โครงการพัฒนาตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาราษฎรชาวไทยภูเขา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้การต้อนรับ คณะศึกษาดูงานจาก มหาวิทยาลัยโคโลญ ประเทศเยอรมณี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในโอกาสเดินทางเยือนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเยี่ยมชมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการท่องเที่ยวชุมชน  ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิงวิชาการและลงพื้นที่ศึกษาการพัฒนาเมืองสำหรับอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณทิตศึกษา หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต และหลักสูตรการวางแผนภาคและเมือง ดุษฎีบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยได้เยี่ยมชม ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ   ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน สถานที่ฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพ การจักสานหวาย จักสานไม้ไผ่ การแกะสลัก การทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้าตุ๊กตาชาวเขา ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องหนัง และการทำเครื่องเงิน จากนั้น เดินทางไป วัดพระธาตุดอยกองมู สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอน  ศูนย์ไทใหญ่ศึกษา แหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่และทุกชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และวัดจองคำพระอารามหลวง วัดจองกลาง วัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่

ในการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการและลงพื้นที่ศึกษาการพัฒนาเมืองของหลักสูตรการวางแผนภาคและเมือง และ Institute of Geography, University of Cologne ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ วันที่ 15-23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นกิจกรรมต่อเนื่องโดยได้มีการจัด Excursion Trip เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยเกี่ยวกับบริบทของเมืองและภูมิภาคต่าง ๆ สำหรับในปีการศึกษา 2565  ในประเด็นดังต่อไปนี้

  • การวางผังเมืองของเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรล้านนา มรดกเมืองและศาสนสถาน การพัฒนาเมืองชั้นในเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองจากการจัด Events
  • ความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบท เกษตรกรรมในเมืองและกึ่งเมือง การขยายตัวของเมืองบนภูเขาในเมืองเล็กๆ
  • ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เกษตรกรรมบนภูเขาแบบดั้งเดิม/สมัยใหม่ (ไร่หมุนเวียน) การพัฒนาภูมิภาคในพื้นที่รอบนอกภูเขา โครงการหลวง ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การท่องเที่ยวโดยชุมชน
  • การตั้งถิ่นฐานในชนบท ความรู้ด้านการเกษตรและหัตถกรรมแบบดั้งเดิม สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
  • การพัฒนาชุมชนชายแดน Greenfield Urbanization การค้าและการลงทุนเมืองชายแดน การอพยพข้ามพรมแดน เมืองของผู้ลี้ภัย
  • พลวัตของการทำให้เป็นเมืองชายแดน การค้าชายแดนและโอกาส โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของเครือข่ายทางหลวงเอเชีย การอพยพข้ามชาติในเมือง ความท้าทายของกิจกรรมข้ามพรมแดน
  • การพัฒนาเมืองและเอกลักษณ์ของเมืองในเอเชีย มรดกโลกของยูเนสโก การท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในการพัฒนาระดับภาคและเมือง และกระตุ้นให้คณาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตรมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนภาคและเมือง สร้างเสริมประสบการณ์ทางวิชาการ

 

 

ขอบคุณข้อมูล : NBT Chiangmai  (NBT North)
ภาพ : ผศ.ดร. กฤตภัทร ถาปาลบุตร
เรียบเรียง/เผยแพร่ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ

 

 

Scroll to Top