มข. ร่วม เอกชน ผลิตแบตเตอรี่ ลิเธียม อิออน เพื่อยานยนต์ไฟฟ้า ประหยัดพลังงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม สู่โลกอนาคต

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด จัดพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “พัฒนางานวิจัยสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม” โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นางมรกต  ยิบอินซอย นายยุพธัช ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ร่วมลงนาม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายอนุชา  คู่อรุณยสุนทร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบริษัทโซลารินน์ จำกัด ร่วมลงนามเป็นพยาน เมื่อวันที่ 3 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “พัฒนางานวิจัยสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม” เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการวิจัย และ พัฒนาผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของโรงงานแบตเตอรี่ และ พลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปใช้ประโยชน์สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “พัฒนางานวิจัยสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม” ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ นำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงานแบตเตอรี่ และ พลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปใช้ในอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และ อุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะมีการนำแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน (Na-ion battery) ไปใช้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงาน โดยมุ่งเน้นการใช้งานทางอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และ เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา และ บุคลากรของ มข. หรือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ

“บริษัท ยิบอินซอย จำกัด จะนำแบตเตอรี่ ลิเธียม อิออน ไปใช้กับ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ของบริษัท ยี่ห้อ Ryn โดยในปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะส่งมอบ 500 คัน ปีหน้า 6,000 คัน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะพัฒนาและส่งมอบแบตเตอรี่ โซเดียม อิออน จำนวน 5 kw hr ให้กับยิบ อิน ซอย เพื่อนำไปใช้ในระบบ กักเก็บพลังงาน ในโครงการ Smart Farming ของบริษัท อีกด้วย ”

นายยุพธัช ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เปิดเผยว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด จะเป็นการสนับสนุนงบประมาณสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ เพื่อใช้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และสินค้าอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนสามารถนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามเป็นต้นไป

Scroll to Top