มข.จัดปฐมนิเทศนักวิจัยใหม่ เส้นทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย

________เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา 08.30 น. รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานในพิธีเปิดการปฐมนิเทศ โครงการพัฒนานักวิจัยใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี ศาสตราจารย์อลิศรา เรืองแสง ประธานคณะกรรมการดำเนินงานและขับเคลื่อนกระบวนการโครงการพัฒนานักวิจัยใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงานต่อประธาน  การปฐมนิเทศในครั้งนี้ จัดขึ้นโดย คณะกรรมการดำเนินงานและขับเคลื่อนกระบวนการโครงการพัฒนานักวิจัยใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ผู้เข้าร่วมการปฐมนิเทศ ได้แก่ นักวิจัยผู้สมัครขอรับทุน จำนวน 36 คน  นักวิจัยพี่เลี้ยง  คณะกรรมการโครงการฯ  คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  และผู้สนใจรวมจำนวนกว่า 100 คน  ณ  ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศาสตราจารย์อลิศรา เรืองแสง ประธานคณะกรรมการดำเนินงานและขับเคลื่อนกระบวนการโครงการพัฒนานักวิจัยใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

________ศาสตราจารย์อลิศรา เรืองแสง กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานปฐมนิเทศ โครงการพัฒนานักวิจัยใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า  “มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย โดยได้กำหนดให้การวิจัยเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่บุคลากรจะต้องตระหนักและจำเป็นต้องทำการวิจัยเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการและค้นหาความรู้ใหม่ ๆ และเพื่อนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่องานด้านวิชาการ การเรียนการสอน และการบริการแก่สังคม ตามพันธกิจที่กำหนดของมหาวิทยาลัย ด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดจัดโครงการปฐมนิเทศนักวิจัยใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีรูปแบบการจัดกิจกรรม ได้แก่  การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายและทิศทางการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และระดับประเทศ” โดย ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา  การเสวนาวิชาการ เรื่อง “จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนักวิจัยและการเผยแพร่ผลงานวิจัย” สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดย ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ จากคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์โสพิศ วงศ์คำ  สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศาสตราจารย์กุลธิดา ท้วมสุข ร่วมเสวนา  การบรรยาย หัวข้อ “แนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อพิชิตทุนภายนอก” บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์  การบรรยาย หัวข้อ “จากงานวิจัยพื้นฐานไปสู่นวัตกรรม ต้องวางแผนอย่างไร”  โดย ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ  การบรรยาย หัวข้อ “แนะนำศูนย์เครื่องมือกลางมหาวิทยาลัยขอนแก่น” โดย คุณอิสยาภรณ์ ประสานกุลนันท์ ผู้จัดการศูนย์เครื่องมือวิจัยกลาง   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  “ประสบการณ์การเริ่มทำงานวิจัยของนักวิจัยใหม่ มข. ที่ประสบความสำเร็จ” โดย รองศาสตราจารย์เกียรติไชย ฟักศรี คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์วิศปัตย์  ชัยช่วย จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  และการชี้แจงกระบวนการโครงการพัฒนานักวิจัยใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดย ศาสตราจารย์วิทยา เงินแท้ เลขานุการโครงการพัฒนานักวิจัยใหม่”

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

________รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  กล่าวถึงการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า “ประเด็นที่ 1 เราสามารถสร้างนักวิจัยได้ตามเป้าแต่อาจจะไม่เพียงพอหากว่าเราตั้งเป้าไว้จะเป็นมหาวิทยาลัยการวิจัยซึ่งอาจต้องใช้เวลา อีก 5 ปี 10 ปี 15 ปี ซึ่งต้องพยายามต่อไป  ประเด็นที่ 2 ในการสร้างสมดุลความก้าวหน้าของนักวิจัย เรามีแทร็กเพิ่มอีก 5 แทร็ก แทร็กปกติคือที่มีการวิจัย เรามีแทร็กใหม่ ๆ คือการสอน แทร็กเรื่องนวัตกรรม เรื่องของศิลปะ หรือศาสนา ซึ่งภาพรวมของมหาวิทยาลัย คือ การที่อาจารย์เลือกแทร็กจะต้องอยู่ภายใต้กรอบและตั้งเป้ากรอบว่า อาจารย์จะเป็นนักวิจัยกี่เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออาจจะสอน  30 เปอร์เซนต์ อีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นนวัตกรรม อีก 5 เปอร์เซนต์เป็นศิลปะ หรืออะไรก็แล้วแต่  แต่เราต้องทำตรงนี้ เพราะนี่คือทิศทางของมหาวิทยาลัยซึ่งภาพรวมของมหาวิทยาลัยครอบคลุม เมื่อทิศทางได้แล้วก็จะถูกถ่ายทอดไปยังคณะ ซึ่งคณะที่ทำงานวิจัยมาก ๆ ก็จะถูกมอบหมายทำงานวิจัยค่อนข้างมาก  แต่คณะที่ทำงานวิจัยน้อย เช่น ด้านสังคมศาสตร์งานวิจัยก็จะทำยาก ก็จะให้ต่ำกว่า 60%  อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ต้องสร้างให้นักวิจัยเป็นกระแสหลัก  ส่วนประเด็นที่ 3 ในเส้นทางของการเป็นนักวิจัยนั้น เราควรคำนึงถึงเรื่องหลัก ๆ อยู่สองเรื่อง คือ เรื่องแรก ขอให้นักวิจัยมีแรงผลักดันในการทำวิจัย มันจะทำให้ทำงานอย่างมีความภาคภูมิใจมีความปิติและเกิดความก้าวหน้า  เรื่องที่สอง เราต้องใส่ใจเรื่องคำถามวิจัย (Research Question) นักวิจัยเราต้องตั้งคำถามงานวิจัยให้แหลมคม และสอดคล้องกับยุคปัจจุบันแล้วมันจะทำให้วิจัยของเรามีคุณค่า และตีพิมพ์ได้  ถ้าหากเราตั้งงานวิจัยที่เป็นความต้องการของแหล่งทุนเราก็สามารถหาทุนมาทำวิจัยเพิ่มมากได้  สำหรับประเด็นที่ 4 คือ ขอให้วางแผนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย นอกเหนือจากการตีพิมพ์ซึ่งการตีพิมพ์ยังสำคัญอยู่ แต่ขอให้มองไกลไปอีกว่าหลังจากตีพิมพ์แล้ว จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกถ้าทำแบบนี้ได้แล้วเราจะสามารถลบคำสบประมาทที่ว่าเมืองไทยชอบทำงานวิจัยขึ้นหิ้ง และมันจะช่วยให้งานวิจัยของเรามีคุณค่าขึ้นไปอีก ซึ่งเราไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเพียงแต่เรามองให้ไกลขึ้นไปอีก”

________ในการปฐมนิเทศนักวิจัยใหม่ฯ ในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยใหม่ให้ได้เข้าใจกรอบนโยบาย และทิศทางการวิจัยระดับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และระดับประเทศ รวมถึงจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนักวิจัยและการเผยแพร่ผลงานวิจัย ความรู้เกี่ยวกับศูนย์เครื่องมือวิจัยมหาวิทยาลัย การวางแผนงานวิจัยพื้นฐานไปสู่นวัตกรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์เริ่มทำงานวิจัยของนักวิจัยใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย การพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย ทำให้เกิดงานวิจัยที่ดี ซึ่งนำไปสู่การตีพิมพ์ เผยแพร่ในระดับชาติและนานาชาติในอนาคต

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู  /  พรทิพย์   คำดี
ภาพ  :   วัชรา   น้อยชมภู

Scroll to Top